สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 5, 2020 14:54 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 29 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2563

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                           ราคาประกันรายได้    ครัวเรือนละไม่เกิน
                                       (บาท/ตัน)              (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                          15,000                 14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                    14,000                 16
ข้าวเปลือกเจ้า                             10,000                 30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                       11,000                 25
ข้าวเปลือกเหนียว                           12,000                 16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563 4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,938 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,925 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,113 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,123 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.11

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,850 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,575 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,350 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.56

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,485 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,104 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,928 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 443 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,875 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 501 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,851 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 24 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 491 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,435 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน ราคาสูงขึ้นจากตันละ 487 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,408 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.82 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 27 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 528 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,598 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 523 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,547 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 51 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.4360

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฮ่องกง แห่กักตุนสั่งซื้อข้าวไทยพุ่ง 27%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามความคืบหน้าสถานการณ์การค้าข้าวในตลาดฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของไทย โดยพบว่า ที่ผ่านมาชาวฮ่องกงตื่นกักตุนข้าวจำนวนมาก เพราะกังวลว่าข้าวจะไม่เพียงพอ ประกอบกับเวียดนามระงับการส่งออกข้าวชั่วคราว แต่ไทยไม่มีมาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกข้าว ส่งผลดีให้คำสั่งซื้อจากฮ่องกงมาที่ไทยเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2563 ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากไทย 69,339 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในฮ่องกงอันดับ 1 ที่ร้อยละ 66 โดยข้าวที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด คือ ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวหอมไทย ซึ่งฮ่องกงได้ขอบคุณไทยที่ส่งออกข้าวให้ฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่า ไทยมีผลผลิตเพียงพอที่จะส่งออกให้ชาวฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง

“เราได้ยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่มีมาตรการจำกัด หรือห้ามการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ และขอให้ฮ่องกงเชื่อมั่นว่า ไทยมีปริมาณผลผลิตข้าวเพียงพอพร้อมที่จะส่งออกไปฮ่องกงและขอให้ฮ่องกงนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นด้วย”

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกข้าวแล้ว 2.111 ล้านตัน มูลค่า 43,046 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 32.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 3.112 ล้านตัน และมูลค่าลดลงร้อยละ 15.71 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 51,068.7 ล้านบาท

ที่มา : www.matichonelibrary.com , ไทยรัฐ

เมียนมา

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างคำพูดของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (the Deputy Minister for Commerce) ว่าในปีงบประมาณ 2562/63 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) เมียนมาตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ถึง 2.50 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าเมียนมาจะทำได้ตามเป้าที่วางไว้ หากผลผลิตข้าวมีเกินกว่าความต้องการบริโภคในประเทศสหพันธ์ข้าวของเมียนมารายงานว่า ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 - 8 พฤษภาคม 2563 เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักรวมกว่า 1.80 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 527.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมียนมาส่งออกข้าวไปยัง 62 ประเทศ มีจีนเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ ขณะที่มีการส่งออกข้าวหักไปยัง 53 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปประเทศเซเนกัล

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้เรียกร้องให้ผู้ส่งออกจัดสรรข้าวจำนวนร้อยละ 10 ของปริมาณส่งออกของแต่ละราย เพื่อเก็บเป็นสต็อกสำรองของประทศ (emergency reserve) โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินการเก็บสต็อกข้าวในครั้งนี้ประมาณ 16.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจัดซื้อข้าวประมาณ 50,000 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ซาอุดิอาระเบีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2563/64 (มกราคม-ธันวาคม 2563) ประเทศซาอุดิอาระเบียจะมีการนำเข้าข้าวสารประมาณ 1.30 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.10 ล้านตัน ที่คาดว่าจะมีการนำเข้าในปี 2562/63 ซึ่งการนำเข้าข้าวในปีดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากการที่หน่วยงานด้านอาหารและยาของซาอุดิอาระเบีย (the Saudi Food and Drug Authority; SFDA) มีการเข้มงวดการนำเข้าข้าวจากอินเดียมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศอินเดีย ปากีสถาน และไทย ถือเป็นแหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ซาอุดิอาระเบียก็มีการนำเข้าข้าวจากหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บราซิล บังคลาเทศ โปรตุเกส สเปน อียิปต์ จีน อิตาลี เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานศุลกากรของซาอุดิอาระเบียในปี 2561/62 (มกราคม-ธันวาคม 2562) มีการนำเข้าข้าวประมาณ 1.272 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 2.67 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.307 ล้านตัน ในปี 2560/61 โดยนำเข้าจากอินเดีย 942,342 ตัน คิดเป็นร้อยละ 74.10 รองลงมา ได้แก่ ปากีสถาน 128,913 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10.10 สหรัฐฯ 101,492 ตัน คิดเป็นร้อยละ 8.00 ไทย 40,463 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.20 เวียดนาม 26,650 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.10 ออสเตรเลีย 13,248 ตัน คิดเป็นร้อยละ 1.00 บังคลาเทศ 2,151 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.20 โปรตุเกส 1,543 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.10 สเปน 1,366 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.10 อียิปต์ 1,100 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.10 จีน 927 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.10 อิตาลี 805 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด

สำหรับการบริโภคข้าวนั้น ในปี 2563/64 คาดว่าจะมีประมาณ 1.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ที่ประมาณการไว้ 1.11 ล้านตัน โดยในปี 2562/63 คาดว่าจากสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้รัฐบาลออกมาตรการห้ามการเดินทางเข้าประเทศเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งระงับการเดินทางของ นักท่องเที่ยวและการติดต่อทางธุรกิจ จึงทำให้ปริมาณการบริโภคข้าวในกลุ่มนี้ลดลง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติในปี 2563/64 หลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายไปในทางที่ดี และรัฐบาลยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว ขณะที่อัตราการบริโภคข้าวของซาอุดิอาระเบียเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 35 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ