นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ครัวเรือนเกษตรของไทย ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่ทำการเกษตรขนาดเล็ก รายได้ทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ในครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนและหัวหน้าครัวเรือนจำเป็นต้องหารายได้นอกภาคเกษตร เช่น เป็นแรงงานรับจ้างทั้งในและต่างประเทศ ค้าขาย และประกอบธุรกิจอื่นๆ ซึ่งครัวเรือนเกษตรจะมีรายได้นอกภาคเกษตรประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนนั้น ภาคเกษตรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยแรงงานในเมืองและต่างประเทศได้โยกย้ายกลับภูมิลำเนาจึงมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ประกอบกับภาวะการเงินที่มีความตึงตัวอยู่ก่อนแล้ว เมื่อไม่มีรายได้นอกการเกษตรมาช่วยในการชำระหนี้ที่มีมากโดยเฉลี่ย 221,490 บาท/ครัวเรือน จึงส่งผลให้การเงินมีความตึงตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จากการประกาศของรัฐบาลให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงานและการทำงานที่บ้าน และประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ เคอร์ฟิว ทำให้การซื้อขายในตลาดทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภค บริโภค จะมีผู้ซื้อและกำลังซื้อลดลงจากเดิม ประชาชนส่วนใหญ่จะเริ่มหันมาใช้สินค้าตลาดออนไลน์มากขึ้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการผลิตและการตลาด
ดังนั้น การเสริมสร้างศักยภาพของภาคเกษตรในระยะยาว ต้องดำเนินการทั้งด้านเยียวยาและการเสริมสภาพคล่องให้ครัวเรือนเกษตร ได้พึ่งตนเอง เช่น อบรมเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่เกษตร พัฒนาการใช้เทคโนโลยีและการตลาด เร่งส่งเสริมศักยภาพแรงงานภาคเกษตรโดยเฉพาะแรงงานคืนถิ่นที่กำลังว่างงาน จูงใจให้แรงงานอายุน้อยหันมาทำเกษตรมากขึ้น ซึ่ง สศก. ได้จัดทำโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทย ด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแนวทาง และสร้างภูมิคุ้มกันให้ในสภาวะปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคร้ายโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินอยู่แล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำการเกษตรรูปแบบใด จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับ มาสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ขยายผลสู่การทำการเกษตรกรรมยั่งยืน
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและการทำการตลาด เช่น e-commerce ตลาดออนไลน์ และเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เกษตรกรส่วนใหญ่ทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี เน้นไปที่การบริหารจัดการน้ำและดินพร้อมทั้งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร และการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยสร้างตลาดสินค้าควบคู่กันงานนอกการเกษตรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า สภาวะวิกฤตช่วงที่ผ่านมา แม้จะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกภาคส่วน แต่หากพิจารณาแล้ว กลุ่มเกษตรกร ยังเป็นกลุ่มที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จากการทำกิจกรรมเกษตรผสมผสาน ลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหาร ด้วยแหล่งอาหารที่ตนเองผลิต นับได้ว่าการทำเกษตรผสมผสานก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรอย่างชัดเจน อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับภาคธุรกิจอื่น ๆ จะเห็นว่าราคาพืชผลสูงขึ้นและความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เกษตรกรยังคงมีรายได้ และยังเป็นภาคที่มีศักยภาพในการรองรับและช่วยแก้ปัญหาว่างงานในเมืองได้อีกด้วย
************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร