สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 19 - 25 มิถุนายน 2563
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562
ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก
ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่
1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2จำนวน 13.81 ล้านไร่
1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน
1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา
1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา
1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย(10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล
ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่
ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว (4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว ราคาประกันรายได้ ครัวเรือนละไม่เกิน (บาท/ตัน) (ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 14 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 16 ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 30 ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 25 ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 16
กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด
2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563
2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ
2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว
มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563
มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึง เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1
4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,846 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,897 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,053 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,092 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 32,610 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.63
ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,073 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,935 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,095 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,755 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.01 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 820 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 518 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,900 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 528 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,276 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.89 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 376 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 499 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,317 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 506 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,598 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.38 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 281 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 540 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,575 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 535 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,492 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.93 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 83 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.6945
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2563/64 ณ เดือนมิถุนายนผลผลิต 502.086 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 494.292 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2562/63 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2563/64 ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีปริมาณผลผลิต 502.086 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.58 การใช้ในประเทศ 497.994 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.67 การส่งออก/นำเข้า 44.980 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 5.93 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 185.348 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 2.26
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา จีน อินเดีย ปารากวัย แอฟริกาใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ปากีสถาน และเวียดนาม
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ เอธิโอเปีย อียู กานา กินี อิหร่าน เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล แอฟริกาใต้
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ จีน และเนปาล ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และไทย
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สหพันธ์เกษตรกรอิสระแห่งฟิลิปปินส์ (The Philippines Federation of Free Farmers; FFF) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนการนำเข้าข้าวจำนวน 300,000 ตัน ภายใต้ข้อตกลงแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G-G) สหพันธ์เกษตรกรฯได้แนะนำให้บริษัทการค้าระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์ (the Philippine International Trading Corporation; PITC) ยกเลิกการประมูลโดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายและงบประมาณเพียงพอสำหรับการนำเข้าข้าว ซึ่งมีรายงานระบุว่า PITC กำลังเผชิญกับความยากลำบากในการเบิกถอนงบประมาณจำนวน 7.45 พันล้านเปโซ จากสำนักงบประมาณและการจัดการ (the Department of Budget and Management; DBM) สำหรับการนำเข้าข้าวจำนวนดังกล่าว ทำให้ PITC ต้องตัดสินใจที่จะระงับการประกาศผลการประกวดราคาที่เดิมจะดำเนินการในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 สหพันธ์เกษตรกรฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการนำเข้าข้าวของ PITC ที่วางแผนไว้นั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอ้างกฎข้อ 6.4 ของกฎและระเบียบปฏิบัติ (the Implementing Rules and Regulationsl; IRR) ของกฎหมายว่าด้วยการเก็บภาษีข้าว (the Rice Tariffication Law; RTL) ซึ่งระบุว่าการนำเข้าข้าวจะได้รับอนุญาตเฉพาะในกรณีที่มีปัญหาการขาดแคลนข้าวในประเทศอย่างชัดเจนและจะต้องมีการอนุญาตอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดี
ทั้งนี้ การเสนอราคาข้าวขาว 25% (25% broken well-milled long-grain white rice) จำนวน 300,000 ตัน ภายใต้ข้อตกลงแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (government-to-government; G2G) ซึ่งจัดโดยหน่วยงาน Philippines International Trading Corporation (PITC) ที่เป็นบริษัทการค้าของรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์และคาดว่าจะชนะการประมูลเพียง 2 ราย จากประเทศเมียนมาและเวียดนาม โดยคาดว่าฟิลิปปินส์จะซื้อข้าวได้เพียง 105,000 ตัน เท่านั้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นไม่ได้ยื่นข้อเสนอ และไม่ผ่านเกณฑ์ของ PITC
โดยในล็อตแรกที่กำหนดส่งมอบที่ท่าเรือ Manila นั้น สหพันธ์ข้าวเมียนมา (Myanmar Rice Federation; MRF) เสนอราคาที่ตันละ 489.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (CIF) หรือ 24,415.53 เปโซต่อตัน จำนวนรวม 33,000 ตัน แบ่งเป็นการส่งมอบภายในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 จำนวน 10,000 ตัน และส่งมอบภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 จำนวน 23,000 ตัน ล็อตที่ 2 กำหนดส่งมอบที่ท่าเรือ Cebu นั้น สหพันธ์ข้าวเมียนมา (Myanmar Rice Federation; MRF) เสนอราคาที่ตันละ 494.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (CIF) หรือ 24,665.08 เปโซต่อตัน จำนวนรวม 42,000 ตัน แบ่งเป็น การส่งมอบภายในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 จำนวน 21,000 ตัน และส่งมอบภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 จำนวน 21,000 ตัน ส่วนล็อตที่ 3 และ 4 กำหนดส่งมอบที่ท่าเรือ Tacloban และ Zamboanga ทั้งเวียดนามและอินเดียที่ได้มีการยื่นข้อเสนอราคา แต่ไม่ผ่านเกณฑ์สำหรับล็อตที่ 5 กำหนดส่งมอบที่ท่าเรือ Davao นั้น บริษัท Vinafood I เสนอราคาที่ตัน 497.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ (CIF) หรือ 24,817.26 เปโซต่อตัน จำนวนรวม 30,000 ตัน แบ่งเป็นการส่งมอบภายในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 จำนวน 15,000 ตัน และส่งมอบ ภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 จำนวน 15,000 ตัน
การประมูลครั้งนี้ มีตัวแทนจากรัฐบาลของ 4 ประเทศเข้าร่วมเสนอราคา ประกอบด้วย สหพันธ์ข้าวเมียนมา (Myanmar Rice Federation; MRF) จากเวียดนามคือ บริษัท Vinafood 1 จากอินเดียคือ สหพันธ์สหกรณ์การตลาดเกษตรแห่งชาติของอินเดีย (India's National Agricultural Cooperative Marketing Federation of India Ltd.) และตัวแทนจากไทยคือ กรมการค้าต่างประเทศ (Department of Foreign Trade)
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2563 ราคาข้าวเปลือกและราคาข้าวสารในประเทศส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (ราคาข้าวเคยขึ้นสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน 2561) โดยราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย (The average farm-gate paddy price) อยู่ที่ 19.15 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 382 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจาก 19.06 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 382.78 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า โดยราคาข้าวเปลือกในขณะนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณร้อยละ 5.3
ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารเกรดดี (The average wholesale price of the well-milled rice) อยู่ที่ 39.43 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 786 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 39.25 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 786.26 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงประมาณร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนราคาขายปลีกข้าวสารเกรดดี (The average retail price of the well-milled rice) อยู่ที่ระดับ 42.5 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 847 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 42.38 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 849 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ลดลงประมาณร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ราคาขายส่งข้าวสารเกรดธรรมดา (The average wholesale price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 35.83 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 714 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 35.73 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 716 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ลดลงประมาณร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาขายปลีกข้าวสารเกรดธรรมดา (The average retail price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 38.25 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 762 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 38.17 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 765 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร