สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 3, 2020 15:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 26 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2563

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62(5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ 2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์ (ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว และจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูก ที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ14,835 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,846 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,963 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,053 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 32,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 32,610 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,054 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,332 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,073 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,935 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.77 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 603 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 510 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,644 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 518ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,900 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.54 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 256 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 491 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,062 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 499ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,317 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.60 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 255 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 529 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,227 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 540ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,575 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.04 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 348 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.6754

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม : ราคาส่งออกข้าวอยู่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน

อุปทานตลาดข้าวภายในประเทศสูงขึ้น ทำให้ ราคาส่งออกข้าวหัก เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ลดลงเหลือ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ(13,804 บาท) ซึ่งต่ำสุดในรอบสองเดือนที่ผ่านมาแหล่งข่าว Vietnam News Agency รายงานว่า อุปทานข้าวในเวียดนามเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง 2563 ซึ่งปริมาณน้ำฝนส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ และหลังจากที่มีการบริโภคข้าวในประเทศเพียงพอ เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ 2.3-2.5 ตัน โดยราคาส่งออกข้าว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 สูงสุดที่ 475 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (หรือประมาณ 14,571 บาทต่อตัน)

ราคาส่งออกข้าวของอินเดีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (ช่วงวันที่ 15-21 มิถุนายน 2563) ลดต่ำสุดในรอบสองเดือน เนื่องจากเงินรูปีอ่อนค่า และความต้องการข้าวลดลง โดยราคาข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) 5% เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ลดลงเหลือ 366-372 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (หรือประมาณ 11,227-11,411 บาทต่อตัน) ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ขณะที่ราคาข้าว 5% ของไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ลดลงเหลือ 505-525 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (หรือประมาณ 15,491-16,105 บาทต่อตัน) จากเมื่อสัปดาห์ก่อนราคาอยู่ที่ 505-533 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (หรือประมาณ 15,491-16,350 บาทต่อตัน)

การส่งออกข้าว จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 หรือประมาณ 3.09 ล้านตัน และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 หรือประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นราคาต่อตันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 หรือประมาณตันละ 485.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในเดือนพฤษภาคม 2563 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 953,950 ตัน มูลค่า 492.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นราคาตันละ 516.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2563) ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 87 และร้อยละ 93.6 ตามลำดับ โดยราคาต่อตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2562) ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ40.6 และร้อยละ 67.6 ตามลำดับ โดยราคาต่อตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2

สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์มากที่สุด ปริมาณรวม 1.3 ล้านตันมูลค่ารวม 598.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 และร้อยละ 41.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์คิดเป็นร้อยละ 41 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม ส่วนจีนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 มีปริมาณการส่งออก 429,261 ตัน มูลค่ารวม 257.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ14 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 17.2 ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมด โดยภาพรวม เวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.4 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ131.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ตลาดส่งออกข้าวของเวียดนามมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายแห่ง ได้แก่ เซเนกัล (เพิ่มขึ้น 18.3 เท่า) อินโดนีเซีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 192) และฝรั่งเศส (เพิ่มขึ้นร้อยละ171.6) อย่างไรก็ตาม ตลาดอื่นๆ มีการขยายตัวลดลง เช่น บรูไน (ลดลงร้อยละ 92) แอลจีเรีย (ลดลงร้อยละ89) แองโกลา (ลดลงร้อยละ89) ตุรกี (ลดลงร้อยละ83) และสหรัฐอเมริกา (ลดลงร้อยละ 69.2)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

สิงคโปร์ : ภาพรวมสถานการณ์สินค้าข้าว

1. ภาพรวมสถานการณ์

1.1 สถานการณ์ตลาดและแนวโน้มการบริโภค สิงคโปร์มีพื้นที่ทำการเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 3 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ การเพาะปลูกจะเป็นสินค้าประเภทผัก และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่ไข่ ปลา กุ้ง และปู สินค้าอาหารมากกว่าร้อยละ 90 ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารหลักของชาวสิงคโปร์ โดยตั้งแต่ปี 2558-2562 สิงคโปร์มีการนำเข้าข้าวโดยเฉลี่ยปีละ 335,200 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิและข้าวอินเดีย เนื่องจากชาวจีนในสิงคโปร์นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิ และแรงงานส่วนใหญ่ในสิงคโปร์มาจากอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ จึงนิยมบริโภคข้าวอินเดีย

1.2 สถานการณ์การผลิตภายในประเทศ และความต้องการนำเข้า สิงคโปร์ไม่มีการผลิตข้าว เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยข้าว Temasek Life Sciences Laboratory (TLL) เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว โดยมีการศึกษาและพัฒนาข้าวกล้องสายพันธุ์หอมมะลิ เป็นพันธุ์แรกของสิงคโปร์โดยใช้ชื่อว่า "Temasek Rice" ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาและทดลองมากกว่า 8 ปี ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยผสมพันธุ์ข้าวหอมมะลิกับข้าวสายพันธุ์อื่นอีก 5 สายพันธุ์ คุณสมบัติทางกายภาพประกอบด้วย การทนแล้ง สามารถปลูกในพื้นที่ที่มีน้ำน้อยได้ ทนน้ำท่วม สามารถแช่น้ำได้นาน 2 สัปดาห์ อีกทั้งทนต่อโรคศัตรูพืชประเภทแบคทีเรียและเชื้อรา ลำต้น ล่ำเตี้ยแข็งแรง ทนต่อกระแสลมแรงได้ดีไม่ล้มง่าย ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 Temasek Rice ยังได้รับรางวัล Science and Technology Ambassadors Award ของ TheAssociation of South-East Asian Nations (ASEAN) และได้มีการวางจำหน่ายแล้วในซุปเปอร์มาร์เก็ต Singapore MEIDI YA และ NTUC Fair Price บางสาขา อย่างไรก็ดี ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ไม่พอเพียงกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ จึงยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

1.3 ข้อมูลสถิติการค้าที่สำคัญ

มูลค่าการนำเข้าข้าว (HS1006) ของสิงคโปร์ จากประเทศคู่ค้า 5 อันดับแรก ปี 2561-2563 (ม.ค.-พ.ค.)

ลำดับ   ประเทศคู่ค้า            2561               2562                             2563 (ม.ค.-พ.ค.)
                   พันดอลลาร์   ปริมาณ   พันดอลลาร์  ปริมาณ   พันดอลลาร์  ปริมาณ     2562    2563     62/61    63/62
                      สหรัฐฯ   (พันตัน)     สหรัฐฯ  (พันตัน)     สหรัฐฯ  (พันตัน)        (ม.ค.-พ.ค.)       (ม.ค.-พ.ค.)
     โลก             223,837    288    238,538    323    158,047    203      100      100     6.57    70.52
1    ไทย             106,513    109    101,186     97     79,481     78    42.42    50.29       -5    96.84
2    อินเดีย            49,146     75     54,646     89     30,474     56    22.91    19.28    11.19    46.88
3    เวียดนาม          45,031     77     51,059     94     21,917     39     21.4    13.87    13.39    11.09
4    ญี่ปุ่น               6,700      3      7,862      4      3,414      2      3.3     2.16    17.34    18.05
5    กัมพูชา             4,622      6      6,523      8      5,870      7     2.73     3.71    41.11    167.6

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าข้าว ของสิงคโปร์ แยกตามประเภท HS Code 2561-2563 (ม.ค.-พ.ค.)

HS Code    รายการ                       2561                2562     2563 (ม.ค.-พ.ค.)    ส่วนแบ่งตลาด       การเปลี่ยนแปลง(%)
                                 พันดอลลาร์  ปริมาณ   พันดอลลาร์  ปริมาณ   พันดอลลาร์  ปริมาณ    2562    2563       62/61   63/62
                                    สหรัฐฯ  (พันตัน)     สหรัฐฯ  (พันตัน)     สหรัฐฯ  (พันตัน)       (ม.ค.-พ.ค.)          (ม.ค.-พ.ค.)
1006       ข้าว                    223,837    288    238,538    323    158,047    203      100      100      6.57     70.52
10063099   ข้าวกล้อง อื่นๆ            115,840    159    137,004    213     89,645    133    57.43    56.72     18.27     64.96
10063040   ข้าวหอมมะลิ               59,064     49     59,216     48     46,103     37    24.82    29.17      0.26    113.68
10063091   ข้าวนึ่ง                   23,695     44     15,629     29      8,056     16     6.55      5.1    -34.04     31.64
10062090   ข้าวกล้องหอมมะลิ            8,444      6     10,028      6      4,657      3      4.2     2.95     18.77     21.22
10063030   ข้าวเหนียว                 6,319     10      6,177      8      4,717      6     2.59     2.98     -2.25     80.55
10064090   ปลายข้าว (Broken Rice)    5,972     16      5,623     15      2,253      6     2.36     1.43     -5.84      2.72
10062010   ข้าวกล้องหอมมะลิ (สีน้ำตาล)   4,502      3      4,861      3      2,618      2     2.04     1.66      7.97     30.95

ที่มา : Global Trade Atlas

2. โอกาส อุปสรรค และความท้าทาย

โอกาสสินค้าข้าวไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศยกระดับการเตือนภัยโรคระบาด Disease Outbreak Response System Condition (DORSCON) อยู่ในระดับสีส้ม จากเดิมระดับสีเหลือง เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 หลายราย ไม่มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศจีน ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และมีการกักตุนสินค้าและอาหาร เช่น กระดาษชำระ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผักและผลไม้ เป็นต้น ส่งผลให้สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งขาด Stock ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ นาย Chan Chun Sing ออกมาประกาศไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก เนื่องจากสิงคโปร์ยังมีสินค้าและอาหารใน Stock เพียงพอสำหรับการบริโภค โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่สิงคโปร์มีกฎระเบียบเรื่อง Stockpile ของข้าวเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้าวที่ชาวสิงคโปร์นิยมบริโภค คือ ข้าวหอมมะลิจากไทย เพราะมีคุณภาพดีกว่าข้าวจากประเทศอื่น และข้าวกล้องในสิงคโปร์ มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์รณรงค์ให้ประชาชนบริโภคข้าวกล้องแทนข้าวขาว เพื่อลดอัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานในสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์มีการประชาสัมพันธ์ข้าว Low GI มากขึ้น เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ไม่บริโภคข้าวกล้อง เนื่องจากความแข็งของข้าวกล้องที่มีมากกว่าข้าวหอมมะลิ โดยผู้บริโภคที่ยังคงบริโภคข้าวหอมมะลิ เนื่องจากติดใจในรสชาติ และความนุ่มของข้าวหอมมะลิอุปสรรคและความท้าทาย

  • การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าข้าวมายังสิงคโปร์ เนื่องจากการหยุดให้บริการชั่วคราวของภาคการขนส่ง
  • ปัจจุบันข้าวหอมมะลิของไทย มีสัดส่วนการตลาดประมาณร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ข้าวไทยจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูง แต่ด้วยราคาข้าวไทยที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว จากประเทศอื่นซึ่งมีราคาถูกกว่า
  • ราคาข้าวยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยมายังสิงคโปร์ หากราคาข้าวหอมมะลิไทยปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบให้ผู้นำเข้าหันไปนำเข้าข้าวขาวจากกัมพูชาและเวียดนาม
3. กลยุทธ์เจาะตลาดและแผนงานผลักดัน
  • จัดกิจกรรม Healthy Rice Campaign และกิจกรรมเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตสินค้าของไทย และผู้นำเข้าสิงคโปร์
  • เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารในสิงคโปร์ เช่น Asia Pacific Food Expo และ Singapore Food Expo
  • การทำประชาสัมพันธ์ข้าว กข43 ในสิงคโปร์ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านข้าวเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์
  • จัดเทศกาลลดราคาสินค้าอาหารไทย ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น RedMart เป็นต้น
4. ข้อเสนอแนะ/ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง (อาทิ GSP FTAs การเมือง การเลือกตั้ง ภัยพิบัติ ฯลฯ)

4.1 การนำเข้าข้าวในสิงคโปร์ควบคุมโดยกฎหมาย Price Control (Rice) 1990 และ Price Control Act (Chapter 244) ซึ่งออกโดย Ministry of Trade and Industry โดยกำหนดว่า ผู้นำเข้าข้าวจะต้องดำเนินการตามระเบียบการควบคุมข้าวในสิงคโปร์ ดังนี้

4.1.1 ผู้นำเข้าต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์เท่านั้น

4.1.2 ผู้นำเข้าจะต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากหน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลการนำเข้าข้าวในสิงคโปร์ โดยใบอนุญาตการนำเข้าข้าว แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

อันดับ  ประเภทของใบอนุญาต                                          ประเภทข้าว
1    ใบอนุญาตเพื่อการนำเข้าสำหรับค้าส่งที่เป็น Stockpile Grade Rice       นำเข้า ข้าวขาว (White Rice, Hom Mali Rice) Basmati Rice, Parboiled Rice และ Ponni Rice และ

ผู้นำเข้าต้องอยู่ในระบบ Rice Stockpile Scheme (RSS) 2 ใบอนุญาตเพื่อการนำเข้าสำหรับค้าส่งที่เป็น Non-Stockpile Grade Rice นำเข้า ข้าวเหนียว Brown Rice, Red Rice, Cargo Rice และ Wild Rice

3    ใบอนุญาตนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ (Re-Export)                      นำเข้าข้าวเพื่อการส่งออกต่อเท่านั้น สินค้าจะต้องเก็บที่ Free Trade Zone (FTZ)
4    ใบอนุญาตเพื่อการนำเข้าสำหรับการผลิต                              นำเข้าข้าวขาวหัก 100% สำหรับการผลิตสินค้า
5    ใบอนุญาตเพื่อการค้าส่งสินค้าข้าว                                   ไม่สามารถนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ใบอนุญาตนี้สำหรับพ่อค้าที่ทำการค้าส่งสินค้าข้าวทุกประเภทเพื่อจำหน่ายในสิงคโปร์

4.1.3 ผู้นำเข้าข้าวในสิงคโปร์จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการเก็บ Stock ข้าวในสิงคโปร์ Rice Stockpile Scheme (RSS) ตามกฎหมาย Price Control (Rice) 1990 และ Price Control Act (Chapter244) เพื่อให้มีข้าวในตลาดเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ

4.1.4 กฎหมายการ Stock ข้าว ผู้นำเข้าข้าวหอม ข้าวขาว ข้าวหัก Basmati Rice, Parboiled Rice และ Ponni Rice ต้องสำรองข้าวสารไว้ 2 เท่าของปริมาณที่นำเข้าในแต่ละเดือน โดยมีการกำหนดปริมาณ การนำเข้าขั้นต่ำ 50 เมตริกตันต่อเดือน สำหรับข้าวกล้อง (Brown Rice) และข้าวเหนียว (Glutinous Rice) ต้องทำการสำรองไว้ 5 เมตริกตันต่อเดือน โดยการสำรองข้าวผู้นำเข้าจะต้องเก็บข้าวสารไว้ที่โกดังสินค้าของรัฐบาล Singapore Storage & Warehouse Pte. Ltd. (SSW) เท่านั้น

4.2 ภายใต้มาตรการ COVID-19 Circuit Breaker ในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศมาตรการผ่อนปรนหลังการสิ้นสุด Circuit Breaker ระยะที่สอง หลังจากการประเมินสถานการณ์ อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์ในช่วงมาตรการผ่อนปรนฯ ระยะที่หนึ่ง (เริ่มผ่อนปรนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563) และพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติมีจำนวนลดลง ผู้ติดเชื้อในชุมชนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และไม่มีผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มใหม่เกิดขึ้น ซึ่งในมาตรการผ่อนปรนฯ ระยะที่สองนี้ จะเป็นการอนุญาตให้กิจกรรมทางธุรกิจและสังคมสามารถเปิดทำการได้เพิ่มขึ้น เช่น การให้บริการนั่งรับประทานในร้านอาหาร การกลับไปเรียนที่โรงเรียนของนักเรียนในทุกระดับชั้น และการเปิดให้บริการสถานที่ออกกำลังกายทั้งกลางแจ้งและในร่ม แต่การจัดงานขนาดใหญ่ (Event) ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการ

4.3 สิงคโปร์มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 มาตรการ เพื่อการรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ1 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์ ดังนี้

4.3.1 มาตรการที่หนึ่ง ภายใต้งบประมาณ Unity Budget มูลค่ำ 6.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

4.3.2 มาตรการที่สอง ภายใต้งบประมาณ Resilience Budget มูลค่า4.8หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์

4.3.3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็กเกจที่สาม ภายใต้การจัดสรรงบประมาณ Solidarity Budget มูลค่า5.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

4.3.4 มาตรการที่สาม (เพิ่มเติม) มูลค่า3.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

4.3.5 มาตรการที่สี่ ภายใต้การจัดสรรงบประมาณ Fortitude Budget มูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์

4.3.6 นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ E-Commerce Booster ที่ให้การสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในสิงคโปร์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถประคองตัวได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงสามารถพัฒนาศักยภาพในการทำธุรกิจเพื่อการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้พร้อมกันทั้งประเทศ

4.4 รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2020 และประกาศให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

เยอรมนี : Okotest ตรวจพบสารหนู แคดเมียม และน้ำมันแร่ในข้าวหลายยี่ห้อในตลาด

Okotest เป็นนิตยสารเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ฉบับเดือนกรกฎาคม 2020 ได้ลงข้อมูลการสุ่มตรวจสอบข้าวบรรจุถุงสำเร็จรูป (Rice Test) ยี่ห้อต่างๆ ที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป จำนวน 21 ยี่ห้อ ประกอบด้วยข้าวประเภทต่างๆ ได้แก่ Basmati rice, Parboiled long grain rice, Whole grain rice มีข้าวออร์แกนิกอยู่ 8 ยี่ห้อ การทดสอบดังกล่าว ดำเนินการในห้องทดลองโดยผู้เชี่ยวชาญ ผลการตรวจสอบปรากฏว่า ข้าวทุกยี่ห้อมีการปนเปื้อน โดยมีเพียง 4 ยี่ห้อเท่านั้น ที่ได้รับการประเมินระดับ “ดีมาก (very good)” เช่น ยี่ห้อ Alnatura ประเภท Langkorn Reis parboiled, Satori Asian Style Basmati Reis จาก Netto, Uncle Ben‘s Original-Langkorn-Reis โดยยี่ห้อส่วนใหญ่ ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ “ดี (gut)” เช่น Langkorn Parboiled Spitzenreis ยี่ห้อ Gut & G?nstig ของ Edeka, Bon-Ri Parboiled Reis จาก Rewe และมี 2 ยี่ห้อ ที่ได้รับระดับ “ไม่เพียงพอ (insufficient)” ได้แก่ Globus Parboiled Nature Reis ราคา 1.19 ยูโร และ Gepa Bio Basmatireis ราคา 3.70 ยูโร ขนาด 500 กรัม

ซึ่งพบการปนเปื้อนของสารหนู MOAH และยาฆ่าแมลง บ่อยครั้งข้าวมักจะปนเปื้อนด้วยสารหนู โลหะหนักชนิดต่างๆ และน้ำมันแร่ ในการทดสอบครั้งนี้ พบสารหนูอนินทรีย์มากที่สุด โดยพบในปริมาณที่สูงเกินในข้าวจำนวน 12 ยี่ห้อปนเปื้อนอยู่ทั้งในประเภทข้าวธรรมชาติที่ยังไม่ผ่านกรรมวิธี และข้าวที่ผ่านกรรมวิธีการอบด้วยไอน้ำ (parboiled rice) สารหนูเกิดขึ้นตามธรรมชาติในดิน แต่สามารถซึมเข้ามาในแหล่งน้ำธรรมชาติผ่านกากสิ่งปฏิกูล หรือปุ๋ยฟอสเฟต ข้าวดูดซึมสารหนูจำนวนมาก เนื่องจากเติบโตในที่เปียก กล่าวคือมีรากจมอยู่ในน้ำ สำหรับข้าวที่ผ่านการอบไอน้ำซึ่งมีแรงดันสูงนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่สารปนเปื้อน อาทิ สารหนู จะสามารถซึมผ่านเข้าไปในเมล็ดข้าวได้

ข้าว Bio Langkornreis Nature ราคา 1.17 ยูโร ของ DM ซึ่งเป็นสินค้าออร์แกนิก เป็นหนึ่งในบรรดา 12 ยี่ห้อรวมทั้งข้าวออร์แกนิก Rewe Bio Naturreis Spitzen-Langkorn ราคา 1.49 ยูโร พบการปนเปื้อนของสารหนูในปริมาณสูงมาก นอกจากนี้ ห้องทดลองยังตรวจพบสารแคดเมียมในข้าว 2 ยี่ห้อ ได้แก่ Golden Sun Langkorn Parboiled Spitzenreis จาก Aldi และ Bio Langkornreis Nature จาก DM แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่เป็นพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมากและสะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อไต และถือเป็นสารก่อมะเร็ง สำหรับมนุษย์ การสูดดมสารประกอบของแคดเมียมนั้นก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ได้ ข้าว 2 ยี่ห้อที่ได้รับการประเมินระดับไม่เพียงพอนั้น ยังมีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง Deltamethirin ปนเปื้อน โดยในยี่ห้อ Globus Parboiled Natur-Reis พบในปริมาณสูง โดยในข้าวทั้ง 4 ยี่ห้อ พบร่องรอยของยาฆ่าแมลงที่เป็นที่ต้องระวัง

นอกจากนี้แล้ว น้ำมันแร่เป็นอีกหนึ่งปัญหาปนเปื้อนในข้าว โดยข้าวมากกว่า 10 ยี่ห้อ มีการปนเปื้อนของน้ำมันแร่ในระดับสูงหรือต่ำ ทั้งนี้ มีข้าว Basmati 2 ยี่ห้อ ที่มีสาร aromatic mineral oil hydrocarbon (MOAH) ปนเปื้อนด้วยซึ่งสาร MOAH นั้นอาจประกอบไปด้วยสารประกอบที่ก่อให้เกิดมะเร็ง การวิเคราะห์จากห้องทดลองไม่สามารถสรุปได้ว่าน้ำมันแร่มาจากที่ใด โดยตั้งข้อสงสัยว่าอาจมาจากกระสอบข้าวที่ใช้ในการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษลัง และ หมึกพิมพ์ที่มีน้ำมันแร่เป็นสารตั้งตน

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ