สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 3 - 9 กรกฎาคม 2563
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้
1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่
1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน
1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา
1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา
1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล
ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่
ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว (4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว ราคาประกันรายได้ ครัวเรือนละไม่เกิน (บาท/ตัน) (ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 14 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 16 ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 30 ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 25 ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 16 กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด
2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563
2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ
2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว และจำหน่ายข้าว
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้
3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 30 เมษายน 2563
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูก ที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1
4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,736 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,835 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,953 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,963 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 32,217 บาท ราคาลดลงจากตันละ 32,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02
ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,483 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.12
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,010 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,208 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,054 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,332 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ1,124 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 478 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,770 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 510ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,644 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.27 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 874 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 466 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,399 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 491ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,062 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.09 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 663 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 507 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,666 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 529 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,227 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.16 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 561 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.8993
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นโดยข้าวขาว 5% ประมาณตันละ 415-450 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 405-450 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้าวจากฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิต (The winter-spring rice) ราคาตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ข้าวจากฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (The winter-spring rice) ราคาปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 415-420 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตันละ 405-410 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ในช่วงนี้ความต้องการข้าวจากต่างประเทศมีน้อยลง แต่ราคาข้าวของฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวได้ปรับสูงขึ้น เป็นผลมาจากภาวะฝนที่ตกหนักในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงทำให้การเก็บเกี่ยวต้องหยุดชะงักลงส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดมีจำกัด ขณะที่วงการค้าคาดว่า สภาพอากาศที่มีฝนตกในพื้นที่เก็บเกี่ยวที่สำคัญจะเริ่มเบาบางลงในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ซึ่งจะทำให้คุณภาพข้าวดีขึ้นจากความชื้นที่ลดลง The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่าในช่วงระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน-20 กรกฎาคมนี้ มีเรือบรรทุกสินค้าอย่างน้อย 8 ลำ ที่กำหนดเข้ามารอรับมอบข้าวที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City Port เพื่อขนถ่ายสินค้าข้าวประมาณ 162,000 ตัน ขณะที่วงการค้ารายงานโดยอ้างข้อมูลจากกรมศุลการกรเวียดนามว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-27 มิถุนายน 2563 เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 387,600 ตัน โดยส่งไปยังประเทศฟิลิปปินส์มากที่สุดประมาณ 83,400 ตัน ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the General Statistics Office; GSO) รายงานเบื้องต้นว่าในเดือนมิถุนายน 2563 คาดว่าเวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 450,000 ตัน มูลค่าส่งออกประมาณ 228 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 24.7 และร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2563) คาดว่า เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 3.542 ล้านตัน มูลค่าส่งออก ประมาณ 1.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
รัฐบาลเมียนมาได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากตลาด ต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจะขยายวันหมดอายุของใบอนุญาตส่งออกเป็น 60 วัน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน หลังจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่รัฐบาลได้ลดอายุของใบอนุญาตส่งออกเหลือ 45 วัน เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนข้าวในประเทศ
ทางด้านเลขาธิการสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมา (The Secretary of the Myanmar Rice Federation; MRF) ระบุว่ารัฐบาลจะมีการขยายเวลาของใบอนุญาตส่งออกเป็น 90 วัน อีกครั้งในภายหลัง เมื่อสถานการณ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่ามาตรการจำกัดโควตาการส่งออกก็จะมีการยกเลิกด้วยในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะมีการส่งออกข้าวเดือนละประมาณ 150,000 ตัน และประมาณ 100,000 ตัน ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2562-12 มิถุนายน 2563 เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักรวมประมาณ 2 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
รัฐบาลอิหร่านได้พิจารณาลดภาษีนำเข้าข้าวเพื่อจัดการกับราคาข้าวในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากรัฐบาลหยุดให้การอุดหนุนการนำเข้าข้าว ทำให้ผู้ค้าข้าวถูกบังคับให้ต้องรับเงินตราต่างประเทศที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าในตลาดแลกเปลี่ยนรองซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาข้าวในประเทศ
ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลได้พิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าข้าวสารที่สีแล้วบางส่วน (semi-milled rice) ลงเหลืออัตราร้อยละ 4 ขณะที่สำนักงานศุลกากรอิหร่าน (The Iranian Customs Office; IRICA) คาดว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสำหรับข้าวสารที่สีทั้งหมด (wholly milled rice) ที่อัตราร้อยละ 10 การปรับลดภาษีนำเข้าในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับลดภาษีลงจากอัตราร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 10
นอกจากการลดภาษีศุลกากรแล้ว รัฐบาลยังได้ใช้มาตรการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพข้าวที่นำเข้าให้ เข้มงวดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้นำเข้าข้าวส่งข้าวไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร