นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (FTA) ได้เห็นชอบให้จัดทำแผนงานสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 – 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ บทบาท ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ของแต่ละหน่วยงานร่วมในการส่งเสริมการดำเนินงานในกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ
สำหรับแผนงานสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด บริษัท สยามบีฟ จำกัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สหกรณ์โคเนื้อปางศิลาทอง และชุมนุมสหกรณ์โคเนื้อภาคตะวันตก และภาคใต้ เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าที่คาดว่าจะขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA ทั้งนี้ สินค้าเป้าหมาย ได้แก่ โคเนื้อ โคนม มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยแผนความร่วมมือมีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2565
“แผนงานสร้างความร่วมมือฯ ครั้งนี้ กองทุน FTA จะดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และเอกชนเร็วๆ นี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ทางวิชาการ มีความร่วมมือในการจัดฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร กลุ่มเป้าหมายของกองทุน FTA เพื่อสร้างโอกาสในการเสวนา พบปะให้เกิดความร่วมมือในการจัดทำโครงการร่วมกัน รวมทั้งการสรรหากลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่มีความประสงค์จะดำเนินโครงการ และการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และวิชาการตามความเหมาะสม” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
ทั้งนี้ กองทุน FTA มุ่งหวังให้เกษตรกรมีการพัฒนาขีดความสามารถ และมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรได้มีความมั่นคงในอาชีพทางการเกษตร และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน FTA ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป สำหรับเกษตรกรที่ต้องการทราบขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทุน FTA สามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0 2561 4727 หรือ อีเมล fta.oae@gmail.com หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ www2.oae.go.th/FTA
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร