สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 14, 2020 14:17 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 7 - 13 สิงหาคม 2563

1) สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และรอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์(6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map)(9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูก ที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้วเว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,582 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,596 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,119 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,997 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.36

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,018 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,414 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,019 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,460 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 46 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 498 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,368 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 483 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,912 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.11 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 456 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 482 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,874 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,511 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.55 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 363 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,584 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 489 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,097 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 487 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.8586 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เมียนมา : สหพันธ์ข้าวเมียนมาเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ 2562/63 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักรวมแล้วกว่า 2.25 ล้านตัน

นายอู มยิน ลวีน รองประธานกรรมการบริหารของสหพันธ์กล่าวกับสำนักข่าวซินหัว คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าว 2.4 ล้านตัน ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดในอีก 2 เดือนข้างหน้าสหพันธ์ฯ เผยข้อมูลที่ระบุว่า เมียนมาส่งออกข้าวกว่า 1.4 ล้านตัน และข้าวหัก 839,956 ตัน คิดเป็นรายได้กว่า 678.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 21,000 ล้านบาท) ซึ่งการส่งออกข้าวและข้าวหักของปีงบประมาณนี้มากกว่าปีงบประมาณที่แล้ว ที่ส่งออกข้าวและข้าวหักได้กว่า 1.8 ล้านตัน หรือมากกว่า 355,874 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ ร้อยละ 85.12 ของยอดการส่งออกข้าวทั้งหมดดำเนินการผ่านทางทะเล ขณะที่ร้อยละ 14.88 ขนส่งผ่านทางประตูชายแดน นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ข้าวและข้าวหักของเมียนมาประมาณร้อยละ 30.20 ส่งออกไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา รองลงมาคือ จีนร้อยละ 27 และสหภาพยุโรปร้อยละ 20.45

ที่มา : xinhuathai.com

กัมพูชา : นายแวง สาคอน (Veng Sakhon) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของกัมพูชา เผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 กัมพูชาส่งออกข้าวขาวรวม 426,073 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 308,013 ตัน

จีนยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวกัมพูชารายใหญ่ที่สุด โดยช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 กัมพูชาส่งออกข้าวขาวไปจีน 155,327 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26 รัฐมนตรีฯ กล่าวว่า กัมพูชาส่งข้าวไปยังตลาดยุโรป 144,247 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 38 และส่งข้าวไปยังตลาดอาเซียน (ASEAN) 57,064 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44 ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังจุดหมายปลายทางทุกแห่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ดีขึ้น โดยกัมพูชาส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศและภูมิภาคต่างๆ รวม 57 แห่ง

นายงิน ชัย (Ngin Chhay) อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ผลักดันให้เกิดความต้องการซื้อข้าวกัมพูชามากขึ้น และคาดว่าในปีนี้ กัมพูชาจะสามารถส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศได้ถึง 800,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 620,106 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรกัมพูชาเผยว่า เมื่อปี 2562 กัมพูชาผลิตข้าวรวม 10 ล้านตัน ทำให้กัมพูชามีข้าวเปลือกส่วนเกินราว 5.6 ล้านตัน ซึ่งสามารถนำไปสีเป็นข้าวขาวได้ประมาณ 3.5 ล้านตัน

ที่มา : xinhuathai.com

อิหร่าน

กระทรวงเกษตรและกิจการจีฮัดอิหร่าน ได้ยกเลิกประกาศการจำกัดพื้นที่ปลูกข้าวในฤดูกาลผลิต 2563/64 เป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบว่าปริมาณน้ำฝนในปีนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จากเดิมที่อนุญาตให้เพาะปลูกได้เฉพาะในพื้นที่ 2 จังหวัดในตอนเหนือของประเทศ คือ จังหวัดกีลาน และจังหวัดมาชานดารานเท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งเมื่อปีนี้ผ่านมา

การยกเลิกข้อจำกัดพื้นที่ปลูกข้าวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากผลการสำรวจของกระทรวงเกษตรอิหร่านพบว่าในฤดูกาลผลิต 2563/64 นี้ หลายจังหวัดของอิหร่านมีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกสินค้าเกษตร จึงเป็นการเหมาะสมหากเกษตรกรจะหันมาขยายกิจกรรมการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เงินกู้ยืมในการเช่าซื้อเครื่องจักรทางการเกษตร รวมถึงข้อแนะนำที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การประกาศข้อห้ามในการจำกัดพื้นที่ปลูกข้าวดังกล่าวของคณะกรรมการบริหารการทรัพยากรน้ำของอิหร่าน มีการบังคับใช้ในฤดูกาลผลิต 2562/63 ซึ่งเบื้องต้นให้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยห้ามเกษตรกรในพื้นที่นอกเหนือจาก 2 จังหวัดที่อนุญาตข้างต้นปลูกข้าว หากเกษตรกรรายใดฝ่าฝืนจะไม่ได้รับการอุดหนุนและความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ ยกเว้นการเพาะปลูกพืชทดแทนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้าว

ทั้งนี้ อิหร่านประสบปัญหาเรื่องน้ำมาเป็นเวลากว่า 50 ปี โดยข้อมูลจากหน่วยงานทรัพยากรทางธรรมชาติของอิหร่านระบุว่า ปัจจุบันอิหร่านมีปริมาณน้ำจืดสำรองทั่วประเทศเพียง 110 ล้านคิวบิกเมตร ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำสูงสุดของประชากรอยู่ที่ประมาณ 82 ล้านคิวบิกเมตร คิดเป็นร้อยละ 90 ของปริมาณน้ำจืดสำรองทั้งหมด โดยมีสาเหตุจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรที่สูงขึ้น ภาคส่วนที่มีการใช้น้ำมากที่สุดของอิหร่าน คือ ภาคเกษตรกรรมใช้น้ำถึงร้อยละ 92 ของปริมาณสำรอง แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ล้าหลังส่งผลให้การใช้น้ำของเกษตรกรส่วนใหญ่มีความสิ้นเปลืองถึงร้อยละ 70 กล่าวคือ จากจำนวนร้อยเปอร์เซ็นต์ของการใช้น้ำ เกษตรกรอิหร่านใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างคุ้มค่าหรือมีประสิทธิภาพสูงสุดเพียงร้อยละ 30 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของอิหร่านพยายามแนะนำให้รัฐบาลประกาศใช้ข้อบังคับการจำกัดพื้นที่เพาะปลูกข้าวมาโดยตลอด โดยเสนอให้มีการเพาะปลูกเฉพาะในจังหวัดที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ และห้ามการเพาะปลูกในจังหวัดที่ขาดแคลนปริมาณน้ำฝนและน้ำใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 8 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว อิหร่านจัดเป็นประเทศในเขตร้อนแห้งที่ในแต่ละปีมีปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด การใช้น้ำเพื่อการเกษตรจึงจำเป็นต้องประหยัดและจำกัดปริมาณลงจากข้อมูลทางการของอิหร่านพบว่า ในฤดูกาลผลิต 2562/63 ที่ผ่านมา อิหร่านสามารถผลิตข้าวได้ปริมาณ 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากฤดูกาลผลิต 2561/62 ที่มีปริมาณ 1.96 ล้านตัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 38 จากเดิม 580,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 3.625 ล้านไร่) เป็น 840,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 5.250 ล้านไร่) เพราะปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นหลังฝนตกหนังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2562 โดยจังหวัดที่ผลิตข้าวได้สูงสุดในฤดูกาลผลิต 2562/63 ประกอบด้วย จังหวัดมาชานดาราน ผลิตได้ร้อยละ 38 ของผลผลิตทั่วประเทศ รองลงมา ได้แก่ จังหวัดกีลาน ผลิตได้ร้อยละ 33 จังหวัดคุซสถาน ผลิตได้ร้อยละ 11 จังหวัดฟารส์ และจังหวัดโกเลสถาน ผลิตได้จังหวัดละร้อยละ 4 และที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 10 กระจัดกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ

จากข้อมูลล่าสุดของศูนย์ข้อมูลสถิติแห่งชาติอิหร่าน พบว่า ในปี 2562 ชาวอิหร่านบริโภคข้าวโดยเฉลี่ยประมาณ 35 กิโลกรัมต่อคน เป็นการบริโภคข้าวที่ผลิตในประเทศประมาณ 1.33 ล้านตัน และนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณ 1.3 ล้านตัน ซึ่งหากนำมาคำนวณกับปริมาณผลผลิตข้าวที่ผลิตได้ในประเทศแล้วจะพบว่า ค่อนข้างเพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติพบว่าอิหร่านยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อรักษาสมดุลและสำรองด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจากข้อมูลปี 2562 พบว่า อิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปริมาณ 1.65 ล้านตัน โดยกว่าร้อยละ 70 นำเข้าจากประเทศอินเดีย และปากีสถาน ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ไทย ตุรกี และอิรัก ตามลำดับ อิหร่านเป็นประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยในแต่ละปีอิหร่านมีความต้องการบริโภคข้าวประมาณ 3.2 ล้านตัน ด้วยผลผลิตภายในประเทศที่ไม่แน่นอนในแต่ละปีในขณะที่ความต้องการภายในประเทศเติบโตในอัตราร้อยละ 1.2 ต่อปี ดังนั้น อิหร่านจึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ 1.2-1.5 ล้านตัน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2563-2565 ผลผลิตข้าวของอิหร่านจะยังคงมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด และผลผลิตต่อเฮกตาร์เพียง 4.2 ตันเท่านั้น ดังนั้น ไทยยังคงมีโอกาสเข้ามาขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวในอิหร่านได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจต้องทำความตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานด้านมาตรฐานสินค้าและด้านการเกษตรของอิหร่าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยให้กับผู้บริโภคอิหร่านต่อไป

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ