สศก. ลุยโคราช แหล่งระบาดใหญ่ โรคใบด่างมันฯ แนะเกษตรกรหมั่นสังเกต หากพบรีบแจ้ง จนท./ผู้นำชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2020 13:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ลุยโคราช แหล่งระบาดใหญ่ โรคใบด่างมันฯ แนะเกษตรกรหมั่นสังเกต หากพบรีบแจ้ง จนท./ผู้นำชุมชน

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา ว่า จากสถานการณ์การระบาด ของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 12 สิงหาคม 2563) พบการระบาดใน 29 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ระบาดรวมทั้งสิ้น 442,564 ไร่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่การระบาดมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว และบุรีรัมย์ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและชี้เป้าพื้นที่ระบาด โดยมีมาตรการกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค พร้อมชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบในอัตราชดเชยไร่ละ 3,000 บาท ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาด ควบคุมการนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศและการขนย้ายท่อนพันธุ์ภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเพื่อป้องกันกำจัดโรคใบด่าง โดยได้ทำลายแล้ว ด้วยวิธีฝังกลบและราดสารกำจัดวัชพืช การใส่ถุง/กระสอบและตากแดด หรือวิธีบดสับและตากแดดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคฯ จำนวน 117,802 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 26.62 ของพื้นที่ระบาดทั้งหมด คงเหลือพื้นที่ระบาด จำนวน 324,762 ไร่ ใน 25 จังหวัด

เมื่อวันที่ 20 - 24 กรกฎาคม 2563 สศก. โดย ศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด จำนวน 280,390 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63 ของพื้นที่ระบาดทั้งประเทศ โดยอำเภอ ที่มีพื้นที่ระบาดมากที่สุด 3 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอเสิงสาง ครบุรี และหนองบุญมาก

ขณะนี้ หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ทำลายมันสำปะหลังทีเป็นโรคใบด่างไปแล้ว จำนวน 38,135 ไร่ ทั้งนี้ คณะทำงานบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลังระดับอำเภอ กำลังเร่งดำเนินการทำลายในส่วนที่เหลือ สำหรับเงินชดเชยที่จะจ่ายให้แก่เกษตรกรนั้น สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาอนุมัติ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรหยุดพักการปลูกมันสำปะหลังหลังจากการทำลายไปแล้ว สัก 3 - 4 เดือน หรืออาจปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเน้นสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเกษตรกรสามารถสังเกตอาการของโรคใบด่างฯ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค จะมีใบด่างเหลือง ใบลดรูป และเสียรูปทรง ลำต้นแคระแกร็น และไม่มีการเจริญเติบโต หรือมีการเจริญเติบโตน้อย โดยหากเกษตรกรพบหรือสงสัยว่ามันสำปะหลังที่ปลูกเป็นโรคใบด่างฯ ให้รีบติดต่อผู้นำชุมชน (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) หรือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล เพื่อวินิจฉัยโรค และหากพบเป็นโรคใบด่างฯ เจ้าหน้าที่จะชี้แจงขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการฯ และการเตรียมหลักฐานประกอบการขอรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต่อไป

ทั้งนี้ สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจระดับภาคและการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจสินค้าเกษตร เพื่อเสนอทางเลือกการผลิตพืชหรือการดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมตามเขตความเหมาะสมพื้นที่ ทั้งระดับภาคและระดับจังหวัด ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อแนะนำทางเลือกให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ สศก. จะมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้โครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ