สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 28, 2020 13:26 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 สิงหาคม 2563

1) สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูก ที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้วเว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,481 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,582 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,196 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,119 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.85

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,130 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,250 ในสัปดาห์ก่อน ร้อยละ 6.18

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 974 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,353บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 979 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,270 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 83 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 525 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,361บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 512ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,831 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.54 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 530 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 501 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,613 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 492 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,212 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.83 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 401 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 528 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,454 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,738 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.73 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตัน 716 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.1632 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม: ราคาข้าวเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) รายงานว่า ราคาข้าวเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 และมีบางช่วงเวลาราคาสูงกว่าข้าวไทย ข้อมูลล่าสุดของ VFA เมื่อวันที่ 10-16สิงหาคม 2563 แสดงให้เห็นว่า ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ตันละ 493-497 ดอลลาร์สหรัฐ ไทยตันละ 473-477 ดอลลาร์สหรัฐ ปากีสถานตันละ 423-427 ดอลลาร์สหรัฐ และอินเดียตันละ 378-382 ดอลลาร์สหรัฐ

นาย Nguyen Van Dong ผู้อำนวยการบริษัท Viet Hung Rice Milling, Processing andTrading Company กล่าวว่า ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวบางชนิดของเวียดนามสูงกว่าไทย สาเหตุหนึ่งมาจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย ประกอบกับการขาดแคลนข้าวขาว 5% ในตลาด ส่งผลให้ราคาข้าวชนิดดังกล่าวสูงขึ้น และปัจจัยสำคัญคือข้าวเวียดนามมีคุณภาพดีขึ้นข้าวเวียดนามหลายชนิดมีราคาดีขึ้น เช่น ข้าวพันธุ์ DT8 ราคาตันละ 570 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าราคาข้าวที่เพาะปลูกในปีที่แล้ว (ตันละ 540 ดอลลาร์สหรัฐ) และข้าวพันธุ์ OM5451 ราคาตันละ 540-550 ดอลลาร์สหรัฐสูงกว่าราคาข้าวที่เพาะปลูกในปีที่แล้ว (ตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ)

นาย Pham Thai Binh ผู้อำนวยการบริษัท Trung An Hi-Tech Agriculture JSC. ณ นครเกิ่นเทอ กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (The European Union– Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) นำผลประโยชน์มาสู่การส่งออกข้าวของเวียดนาม โดย EVFTA จะยกเว้นภาษีสำหรับข้าวขาวและข้าวหอมมะลิของเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป จำนวนโควตา 80,000 ตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ข้าวเวียดนามได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรป ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ข้าวเวียดนามในตลาดโลก ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามต้องเจรจาราคาให้สอดคล้องกับมูลค่าและคุณภาพของข้าว และแบ่งปันผลกำไรกับผู้ปลูกข้าวเพื่อช่วยให้การผลิตและการส่งออกข้าว ของเวียดนามพัฒนาอย่างยั่งยืน

นาย Tran Thanh Hai รองผู้อำนวยการสำนักงานการนำเข้า-ส่งออก ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามคาดการณ์ว่า ตลาดสหภาพยุโรปบริโภคข้าวประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี ในช่วงปี 2559-2563 อย่างไรก็ตามในปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปประมาณ 20,000 ตันต่อปี มูลค่า 10.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ EVFTA เปิดโอกาสให้ข้าวเวียดนามขยายตัวในตลาดสหภาพยุโรป โดยมีภาษีส่งออกเป็นศูนย์สำหรับโควตาข้าวจำนวน 80,000 ตันต่อปี ซึ่งนาย Hai ได้ให้ข้อสังเกตว่า สหภาพยุโรปจะจัดสรรโควตานำเข้าข้าวให้กับผู้นำเข้าในสหภาพยุโรป ดังนั้น ผู้ส่งออกของเวียดนามต้องติดต่อผู้นำเข้าเชิงรุกด้วยโควตาที่จัดสรรไว้ให้ ซึ่งผู้ส่งออกข้าวเวียดนามสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของสหภาพยุโรปได้ที่ ec.europa.eu และเว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเพื่อดูรายละเอียดโควตาที่มีการจัดสรร

สำหรับข้าวหอมมะลิ สหภาพยุโรปกำหนดให้เวียดนามต้องมีใบรับรองความถูกต้อง (authenticity certificate) เพื่อได้รับการยกเว้นภาษีส่งออก และนาย Hai กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เพื่อพัฒนาขั้นตอนให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามลงทะเบียนรับรองความถูกต้อง จากสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามแสดงให้เห็นว่า ในช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2563 เวียดนามส่งออกข้าวไปต่างประเทศรวม3.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 โดยฟิลิปปินส์ยังคงเป็นตลาดนำเข้าข้าวที่ใหญ่สุดของเวียดนาม โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 37

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

มาเลเซีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซีย (Datuk Seri Dr Ronald Kiandee) ได้แถลงผลการพิจารณาของรัฐบาลมาเลเซียที่จะให้ Padiberas Nasional Bhd (Bernas) ยังคงเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการอุปทานข้าว ของประเทศ เพื่อให้การดำเนินการในห่วงโซ่อุปทานเป็นไปได้อย่างราบรื่น ช่วยยกระดับการพึ่งตนเอง (SSL) สำหรับข้าวเปลือก และเพื่อประโยชน์แก่การเพาะปลูกข้าวทุกด้านรัฐบาลจะขยายสัมปทานการนำเข้าข้าวของ Bernas ออกไป โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกำหนดและเงื่อนไขในการขยายสัญญา ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมบทบาทหน้าที่ของ Bernas ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ในการดูแลเกษตรกรและภารกิจด้านการผลิตข้าว ทั้งนี้ Bernas ได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลการบริหารจัดการข้าวของมาเลเซียเพื่อป้องกันภาวะวิกฤตด้านอาหาร

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมข้าวในมาเลเซียถูกจัดการผ่านกลไก Single Gatekeeper Mechanism (SGM) เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร และทำให้มั่นใจได้ว่ามีอุปทานคงที่ โดยในปี 2554 Bernas ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการอุปทานข้าวของมาเลเซียเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดในเดือนมกราคม 2564

ในปี 2551 ราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ Bernas ประสบภาวะขาดทุน จึงเชื่อว่าสัญญาสัมปทานฉบับใหม่จะคำนึงถึงความผันผวนของราคาข้าวในตลาดโลกด้วย Datuk Seri Dr Ronald กล่าวว่า นโยบายอาหารและเกษตรแห่งชาติ (National Agro-FoodPolicy: NAFP) 2.0 จะเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยและส่งเสริมระบบอัตโนมัติ ตลอดจนการนำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งรัฐบาลได้ทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อกำกับดูแลและอำนวยความสะดวกด้านการกู้ยืมเงินอีกด้วย การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ดังกล่าวจะช่วยดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเพาะปลูกข้าวของประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 รัฐบาลมาเลเซียได้จัดสรรเงินทุนจำนวนหนึ่งให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรผ่านแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้ง Prihatin Rakyat และ NationalEconomic Recovery Plan โดยจัดสรรเงินจำนวน 190 ล้านริงกิต ภายใต้แผน Prihatin Rakyat ให้กับกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ 62 ล้านริงกิต ให้กับ Farmers’ Organisation Authority (FOA) ซึ่ง FOA จะนำไปใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรของหน่วยงาน เพื่อยืดอายุให้เครื่องจักรสามารถใช้งานต่อไปได้อีก 3-5 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาในประเทศประมาณ 65,000 คน

ปัจจุบันมีการจ้างงานแรงงานต่างชาติในภาคการเกษตรของมาเลเซียประมาณ 140,000 คน คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ภาคการเกษตรมีการจ้างแรงงานต่างชาติเพียง 140,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของจำนวนแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานในมาเลเซีย ซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่น โดยรัฐบาลจะพยายามดึงดูดคนหนุ่มสาวให้เข้ามาทำงานในภาคการเกษตรมากขึ้น

ทั้งนี้ การขยายสัมปทานให้ Bernas ยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวแต่เพียงผู้เดียวจะทำให้กลไกการนำเข้าข้าวของมาเลเซียยังคงผูกขาด และเป็นข้อจำกัดในการขยายตลาดข้าวของไทยในมาเลเซีย เนื่องจาก Bernas มีการจัดซื้อข้าวในรูปแบบการเปิดประมูล และผู้ที่มีสิทธิยื่นประมูลจะต้องอยู่ในรายชื่อที่ Bernas มีการกลั่นกรองและคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพ

ในการผลิตและจัดส่งข้าวได้ในปริมาณมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ปัจจุบันมาเลเซียลดการนำเข้าข้าวจากไทยเป็นจำนวนมาก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-เมษายน) มาเลเซียมีการนำเข้าข้าวไทยเพียง 40,020 ตัน คิดเป็นมูลค่า 17.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 67.92 และร้อยละ 64.99 ตามลำดับ ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากราคาข้าวไทยที่สูงกว่าข้าวจากประเทศอื่น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ข้าวไทยเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวในเรื่องต้นทุนการผลิตอย่างจริงจัง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ