นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลศึกษาภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 10 อำเภอ จังหวัดพัทลุง 2 อำเภอ และจังหวัดสงขลา 1 อำเภอ พื้นที่รวม 2.12 ล้านไร่ (ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน) โดยเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนของครัวเรือนเกษตร ปี 2562 กับปี 2552 หรือในรอบ 10 ปี ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) พบว่า ปี 2562 ครัวเรือนเกษตรที่มีพื้นที่อยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีจำนวน 83,983 ครัวเรือน จำนวนสมาชิกเฉลี่ย 3 คน/ครัวเรือน ลดลงร้อยละ 14.79 มีพื้นที่ถือครองเฉลี่ย 16.40 ไร่/ครัวเรือน ลดลงร้อยละ 20.43
สำหรับพื้นที่การเกษตร พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าว 303,923 ไร่ ลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 30.95 และมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 367,011 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 310.27 ผลตอบแทนการปลูกปาล์มน้ำมันเฉลี่ย 24,794 บาท/ครัวเรือน ซึ่งผลตอบแทนดีกว่าการปลูกยางพาราที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย 21,705.37 บาท/ครัวเรือน และข้าวเฉลี่ย 8,634.73 บาท/ครัวเรือน รวมทั้ง โครงการของภาครัฐ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น เช่น นโยบายส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อเป็นพลังงานทดแทนในพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่นากุ้งร้าง นาข้าว พื้นที่รกร้าง ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น
ด้านรายได้เงินสดทางการเกษตรปีเพาะปลูก 2562/63 อยู่ที่ 200,970 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีเพาะปลูก 2551/52 ร้อยละ 51.27 ขณะที่รายจ่ายเงินสดทางการเกษตร อยู่ที่ 79,680 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.53 เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิ ทางการเกษตร 121,290 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.42 หากพิจารณารายได้ครัวเรือนเกษตร ปี 2562 ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสาขาพืชเป็นหลัก อาทิ ไม้ผล ไม้ยืนต้น สร้างรายได้ 69,767 บาท/ครัวเรือน ข้าว สร้างรายได้ 20,260 บาท/ครัวเรือน และพืชไร่ สร้างรายได้ 5,349 บาท/ครัวเรือน ซึ่งแม้รายจ่ายเงินสดทางการเกษตรเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมจะเห็นได้ว่า ผลตอบแทนรายได้เงินสดสุทธิเกษตรยังคงสูงขึ้น เป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการเกษตร การร่วมบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ประกอบกับพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีปริมาณน้ำและสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มการดูแลรักษามากขึ้น พืชส่วนใหญ่จึงเจริญเติบโตได้ดี ผลผลิตเพิ่มและมีคุณภาพ
นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผอ.สศท.8 กล่าวเสริมว่า พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้เกษตรกรทำการเกษตรที่หลากหลาย จาก 10 ปี ของการดำเนินโครงการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปส่งเสริมความรู้และการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรทั้งทางด้านการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ พร้อมทั้งเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยร่วมบูรณาการวางแผนพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเกษตรกร ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีอาชีพที่มั่นคงและรายได้ที่แน่นอน ตลอดจนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สมดุล หากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจผลการศึกษาภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th
เศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ปีเพาะปลูก 2562/63 เปรียบเทียบปี 2551/52
รายการ ปีเพาะปลูก 2551/52 ปีเพาะปลูก 2562/63 ร้อยละการเพิ่มขึ้น เป็นเงิน ร้อยละ เป็นเงิน ร้อยละ หรือลดลง 1. รายได้ 200,650 100 313,528.55 100 56.26 1. รายได้เงินสดทางการเกษตร 132,859 66.21 200,969.81 64.1 51.27 2. รายได้เงินสดนอกการเกษตร 67,791 33.79 112,558.47 35.9 66.04 2. รายจ่าย 168,603 100 243,411.27 100 44.37 1. รายจ่ายเงินสดทางการเกษตร 67,797 40.21 79,680.04 32.73 17.53 2. รายจ่ายเงินสดนอกการเกษตร 100,806.18 59.79 163,731.23 67.27 62.42 3. รายได้สุทธิ 1. รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร 65,062.23 - 121,289.77 - 86.42 2. รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือน 132,852.93 - 233,848.51 - 76.02 3. เงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้ 32,046.75 - 70,117.28 - 118.8 ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิงหาคม 2563)
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร