สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 12, 2020 13:27 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 2 - 8 ตุลาคม 2563

1) สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์ (ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้วเว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้น ไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,378 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,623 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.94

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,226 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,255 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.31

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 31,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.61

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,910 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,150 บาท ในสัปดาห์ก่อน ร้อยละ 1.70

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 909 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,286 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,233 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.00 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 53 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 493 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,341 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 495ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,528 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 187 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 478 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,874 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 479ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,026 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.21 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 152 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,434 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 501ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,716 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.00 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 282 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.1175 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 กลุ่ม Loc Troi Group ของเวียดนาม ได้ส่งออกข้าวหอมล็อตแรกปริมาณ 126 ตัน ไปยังสหภาพยุโรปภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam FreeTrade Agreement - EVFTA) ซึ่งเป็นข้าวหอมพันธุ์ Jasmine 85 บรรจุถุงขนาด 18 กิโลกรัมกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามเปิดเผยว่า ข้าวหอมเวียดนาม 9 พันธุ์ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้โควตา 30,000 ตัน ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้รับสิทธิ์ ได้แก่ พันธุ์ OM 4900, OM 5451 (2 พันธุ์นี้มีผลผลิตประมาณรวม 3 ล้านตันต่อปี) Jasmine 85, ST5, ST20, Nang Hoa 9 , VD 20,RVT, และ Tai Nguyen Cho Dao. (7 พันธุ์นี้มีผลผลิตมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี)

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามกล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค. 2563) เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณกว่า 4.6 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 จาก

ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยข้าว 9 พันธุ์ดังกล่าวส่งออกได้มากกว่า 3 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 43-46 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปีสหภาพยุโรปนำเข้าข้าวประมาณ 2.3 ล้านตันต่อปี โดยมีมูลค่า 1.4 พันล้านยูโร ภายใต้ความตกลง EVFTA ข้าวจึงเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปปัจจุบัน เวียดนามได้รับโควตาส่งออกข้าวของสหภาพยุโรปปริมาณ 80,000 ตันต่อปี (รวมข้าวสี 30,000 ตันข้าวที่ยังไม่ได้สี 20,000 ตัน และข้าวหอม 30,000 ตัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรปจะเปิดเสรีข้าวหักอย่างเต็มที่ช่วยให้เวียดนามส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปประมาณรวม 100,000 ตันต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์จากข้าว สหภาพยุโรปจะลดอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 หลังจาก 3-5 ปี

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

กัมพูชา

พนมเปญ (สำนักข่าวซินหัว) เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม 2563 สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 กัมพูชาส่งออกข้าวสารรวม 488,785 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แถลงการณ์จากสหพันธ์ฯ ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนที่ผ่านมา กัมพูชามีรายได้จากการส่งออกข้าวรวมกว่า 328 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท)

?ช่วง 9 เดือนแรกของการส่งออกข้าวในปี 2563 จีนครองตลาดส่งออกรายใหญ่สุดที่ 171,896 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของตลาดส่งออกทั้งหมด ตามด้วยสหภาพยุโรป (EU) 161,614 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33?

ขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าวไปยังตลาดอาเซียนรวม 67,433 ตัน จากปริมาณที่ส่งออกทั้งหมด โดยกัมพูชาส่งออกข้าวไปยัง 69 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก

ด้าน งิน ชัย (Ngin Chhay) อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สังกัดกระทรวงการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของกัมพูชา ชี้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ผลักดันให้ความต้องการซื้อข้าวกัมพูชาพุ่งสูงขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่าในปีนี้การส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศอาจสูงถึง 800,000 ตัน โดยในปี 2562 กัมพูชาผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 10 ล้านตัน ทำให้กัมพูชามีข้าวเปลือกเกินดุลประมาณ 5.6 ล้านตัน หรือเทียบเท่าข้าวสาร 3.5 ล้านตัน

ที่มา : xinhuathai.com

ญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ (the Ministry of Agriculture, Fisheries and Forests; MAFF) ประกาศผลการประมูลนำเข้าข้าวแบบ MA (ordinary international tenders) ครั้งที่ 3 ปีงบประมาณ 2563/64 (1 เมษายน 2563-31 มีนาคม 2564) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ซึ่งกำหนดซื้อข้าวรวม 14,000 ตัน ประกอบด้วยข้าวสารเมล็ดยาว (Non-glutinous milled long grain rice) จากประเทศใดก็ได้ (Global tender) 2 ล็อต ล็อตละ 7,000 ตัน กำหนดส่งมอบวันที่ 20 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2563ผลการประมูลปรากฏว่า ญี่ปุ่นตกลงซื้อข้าวสารเมล็ดยาวจากประเทศไทยจำนวน 14,000 ตัน โดยการประมูลครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมยื่นเสนอราคาจำนวน 9 ราย ซึ่งราคาที่ประมูลได้เฉลี่ยอยู่ที่ 55,920 เยนต่อตัน (ไม่รวมภาษี) (ประมาณ 530 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) หรือ 60,394 เยนต่อตัน (รวมภาษี) (ประมาณ 572 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)

สำหรับการประมูลนำเข้าข้าวแบบ MA (ordinary international tenders) ครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ 2563/64 (1 เมษายน 2563-31 มีนาคม 2564) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ซึ่งกำหนดซื้อข้าวรวม 54,000 ตัน ประกอบด้วย ข้าวสารเมล็ดกลาง (Non-glutinous polished medium rice) จากสหรัฐฯ 2 ล็อต ล็อตละ 13,000 ตัน กำหนดส่งมอบ วันที่ 20 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 1 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม 2563 และข้าวสารเมล็ดยาว(Non-glutinous milled long grain rice) จากประเทศใดก็ได้ (Global tender) จำนวน 4 ล็อต ล็อตละ 7,000 ตัน กำหนดส่งมอบ 2 ล็อตแรก ในวันที่ 20 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2563 และอีก 2 ล็อตที่เหลือในวันที่ 1 พฤศจิกายน- 10 ธันวาคม 2563 นั้น ผลการประมูลปรากฏว่า ญี่ปุ่นตกลงซื้อข้าวจำนวนรวม 54,000 ตัน ประกอบด้วย ข้าวสารเมล็ดกลางจากสหรัฐฯ รวม 26,000 ตัน และข้าวสารเมล็ดยาวจากประเทศไทย โดยในการประมูลครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมยื่นเสนอราคาจำนวน 31 ราย ซึ่งราคาที่ประมูลได้เฉลี่ยอยู่ที่ 98,725 เยนต่อตัน (ไม่รวมภาษี) (ประมาณ 942 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)หรือ 106,623 เยนต่อตัน (รวมภาษี) (ประมาณ 1,017 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)

ส่วนประมูลนำเข้าข้าวแบบ CPTPP Simultaneous Buy and Sell (SBS) tender ครั้งที่ 3 ของปีงบประมาณ 2564 (1 เมษายน 2563-31 มีนาคม 2564) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ซึ่งกำหนดจะซื้อข้าวประมาณ 1,000 ตัน จากประเทศสมาชิกกลุ่ม CPTPP นั้น ปรากฏว่าไม่มีการยื่นเสนอราคาข้าวในการประมูลครั้งนี้

ที่มา : Oryza.com

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ