สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 27, 2020 13:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 16 - 22 ตุลาคม 2563

1) สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1)แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2)โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ? 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ? 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 30 เมษายน 2563

4)โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1)กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2562กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูก ที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้วเว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ11,747บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,194 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.67

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น15%สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ8,588บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,168 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.33

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ29,550บาท ราคาลดลงจากตันละ 29,675 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.42

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ12,850บาทราคาลดลงจากตันละ 13,275 บาทในสัปดาห์ก่อน ร้อยละ 3.20

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่)สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ912ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,228บาท/ตัน)ราคาลดลงจากตันละ 914ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,238บาท/ตัน)ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22และลดลงในรูปเงินบาทตันละ10บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ463ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,331บาท/ตัน)ราคาลดลงจากตันละ 464ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,335 บาท/ตัน)ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ4 บาท

ข้าวนึ่ง 5%สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ466ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,424บาท/ตัน)ราคาลดลงจากตันละ 473ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,613 บาท/ตัน)ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.48 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ189บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ30.9522 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2563/64ณ เดือนตุลาคม ผลผลิต501.473ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 495.782 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2562/63 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.15

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลกกระทรวงเกษตรสหรัฐฯได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2563/64 ณเดือนตุลาคม 2563 มีปริมาณผลผลิต 501.473ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63ร้อยละ 1.15การใช้ในประเทศ 499.440ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63ร้อยละ 0.85 การส่งออก/นำเข้า 44.223 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 2.84 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 179.146 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63ร้อยละ 1.15

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา กายานา อินเดีย ปากีสถานแอฟริกาใต้ และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล เมียนมา ปารากวัย และเวียดนาม

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์เอธิโอเปีย สหภาพยุโรปกานา กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เซเนกัล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิลจีน เม็กซิโก

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และไทย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

กระทรวงเกษตร (the Department of Agriculture; DA) รายงานว่า มีใบรับรองสุขอนามัย (sanitary and phytosanitary import clearance; SPS-IC) จำนวน 2,071 ใบ ซึ่งเอกชนได้มีการยื่นขออนุญาตนำเข้าข้าวประมาณ 1.879 ล้านตัน ในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563ได้หมดอายุลงแล้วหลังจากที่ไม่สามารถนำเข้าข้าวได้ภายในระยะเวลา 60 วัน ตามกำหนด ขณะที่สำนักงานอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry; BPI) ยืนยันว่ามีใบรับรองที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมก็หมดอายุลงเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 200,000-300,000 ตัน โดยเป็นการนำเข้าในช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ขอให้ผู้นำเข้าข้าวระงับการนำเข้าข้าวชั่วคราวในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังมีการเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะราคาข้าวตกต่ำ

ทั้งนี้ในเดือนกันยายน 2563สำนักงานอุตสาหกรรมพืชได้ออกใบรับรองสุขอนามัย (SPS-IC) จำนวน 14,463 ใบ ให้แก่ผู้ขออนุญาตนำเข้าข้าวในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2563ผู้นำเข้าเอกชนจำนวน 190 รายได้นำเข้าข้าวแล้วประมาณ 1.817 ล้านตัน จากประเทศเวียดนาม เมียนมาไทย จีน อินเดีย ปากีสถาน กัมพูชา ไต้หวัน อิตาลีและสเปน โดยนำเข้าจากประเทศเวียดนามมากที่สุดที่ประมาณ 1.583 ล้านตัน มีผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ เช่น บริษัทPuregold Price Club Inc ซึ่งนำเข้าประมาณ 65,729 ตัน และบริษัท Davao San Ei Trading Inc. นำเข้าประมาณ 64,636 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากผู้ซื้อชะลอการซื้อข้าวเพราะเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาได้นำเข้าข้าวจำนวนมากแล้วทำให้ยังคงมีสต็อกข้าวเพียงพอ โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 376-382 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากับเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่มีรายงานว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวทางภาคใต้ของประเทศและแถบชายฝั่งตอนใต้ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักจนสร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตข้าวบางส่วนขณะเดียวกันก็ทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวต้องล่าช้าออกไปและอาจจะทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยกว่าปกติ

สำนักงานสถิติการค้า (the Directorate General of Commercial Intelligence and Statistics; DGCIS) รายงานว่า ในเดือนสิงหาคม 2563อินเดียส่งออกข้าวประมาณ 1.284 ล้านตัน (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ 353,763 ตันและข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ930,027 ตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ87 เมื่อเทียบกับจำนวน 649,253 ตันเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ12 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.467 ล้านตัน (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ 396,178 ตัน และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ1.07 ล้านตัน) ที่ส่งออกได้ในเดือนกรกฎาคม 2563ส่วนมูลค่าส่งออกในเดือนสิงหาคม 2563อยู่ที่ประมาณ 662.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ352.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

สำหรับในช่วง 5 เดือนแรก (เมษายน-สิงหาคม 2563) ของปีงบประมาณ 2563/64 (เมษายน 2563-มีนาคม2564)อินเดียส่งออกข้าวประมาณ 5.98 ล้านตัน (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ2.03 ล้านตัน และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ3.94 ล้านตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ57 เมื่อเทียบกับจำนวน 3.81 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ประกอบด้วย ข้าวบาสมาติ1.67 ล้านตัน และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ2.14 ล้านตัน) โดยข้าวบาสมาติส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ22

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติเพิ่มขึ้นร้อยละ84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกอยู่ที่ประมาณ 3.344 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ1.809 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ1.535 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)ทั้งนี้การส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติเพิ่มขึ้นจากการที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศมีมากขึ้นขณะที่ราคาข้าวของอินเดียต่ำกว่าประเทศคู่แข่งมากด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า การส่งออกข้าวของอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

แม้จะมีการหยุดชะงักไปบ้างในช่วงเดือนเมษายน 2563จากภาวะการระบาดของเชื้อ COVID-19 จนรัฐบาลต้องออกมาตรการ Lockdown ทั่วประเทศ โดยคาดว่าอินเดียจะยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ30 ของการค้าข้าวทั้งโลก ซึ่งตลอดทั้งปี 2563คาดว่าอินเดียจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 12.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ25 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียมีสต็อกข้าวเพียงพอจึงไม่มีข้อจำกัดในการส่งออกในปีนี้ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ส่งออกรายอื่น

สำหรับปี 2564คาดว่าอินเดียจะมีผลผลิตข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับประมาณ 120 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน โดยขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูหลัก Krarif crop และคาดว่าจะได้ผลผลิตที่ดีเนื่องจากในปี 2563 อินเดียมีฝนตกในระดับที่ดีเยี่ยมในพื้นที่แคว้นต่างๆที่เป็นแหล่งปลูกข้าว ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียคาดว่าจะจัดหาข้าวได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การบริโภคในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

ถึงแม้ว่าความต้องการข้าวในประเทศจะยังคงมีเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกข้าวในปี 2564คาดว่าจะปรับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับประมาณ 12.5 ล้านตัน เนื่องจากอุปทานข้าวที่มีเพียงพอ ทำให้ข้าวอินเดียยังคงสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ