นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2563 (กรกฎาคม - กันยายน 2563) พบว่า หดตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยสาขาพืช สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสนี้ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมาแต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งที่ต่อเนื่องถึงช่วงกลางปี เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ สาขาพืช ซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักยังคงหดตัวที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ ขณะที่ยางพาราลดลงจากจำนวนวันกรีดยางที่ลดลงจากฝนตกชุก รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในการกรีดยาง นอกจากนี้ การผลิตพืชหลักที่ลดลงยังส่งผลให้ สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวตามไปด้วย โดยไตรมาส 3 หดตัวที่ร้อยละ 0.2 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร
สำหรับสาขาประมง หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ 0.9 จากปริมาณการเลี้ยงกุ้งทะเลและสัตว์น้ำจืดที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่การเลี้ยง ปรับลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง ส่วนสาขาป่าไม้หดตัวร้อยละ 1.0 จากปริมาณผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา และครั่ง ที่ลดลงตามความต้องการของตลาดและการส่งออกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม สาขาปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.4 จากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่ที่สำคัญของไทย และการใช้สายพันธุ์โคนมที่เหมาะสม ส่งผลให้อัตราการให้น้ำนมเพิ่มขึ้น
สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตลอดปี 2563 คาดว่า จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.4) - (-2.4) เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร มีทิศทางหดตัวลงตามการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2563 มีฝนตกเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที ส่วนสาขาประมง คาดว่าจะปรับตัวลดลง ทั้งการทำประมงทะเลและประมงน้ำจืด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ในขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการวางแผนการใช้น้ำ การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร การส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ รวมถึงการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าเกษตรในประเทศ อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 สศก. ยังมีปัจจัยและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อและความเสี่ยงของการกลับมาระบาดในรอบที่ 2 และความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งในด้านการค้าและความมั่นคงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุน เป็นต้น
ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า หากพิจารณาถึง ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในช่วงไตรมาส 3 (กรกฎาคม ? กันยายน 2563) สินค้าสำคัญที่เกษตรกรขายได้มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร กุ้งขาวแวนนาไม ปลานิล และ ปลาดุก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง และบางสินค้ามีความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่เกษตรกรขายได้มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ลำไย ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2563 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 205,010.19 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 225,222.45 ล้านบาท สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ได้แก่ ข้าวรวม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ยางพารา สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มังคุด และเงาะและผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ ขณะที่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ และปลาและผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ ในช่วงหลังกลางเดือนธันวาคม 2563 สศก. จะมีการจัดสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 โดยจะมีการเสวนาจากวิทยากรทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อวิเคราะห์ถึงมุมมอง และทิศทางของภาคเกษตรไทย รวมทั้งการแถลงรายละเอียดให้แก่สื่อมวลชนและทุกภาคส่วนได้รับทราบไปพร้อมกัน ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดวันและสถานที่การจัดงานให้ทราบเร็วๆ นี้ต่อไป
หน่วย: ร้อยละ
สาขา ไตรมาส 3 ปี 2563 ปี 2563 ภาคเกษตร -0.4 (-3.4) - (-2.4) พืช -0.8 (-4.6) ? (-3.6) ปศุสัตว์ 2.4 2.5 ? 3.5 ประมง -0.9 (-3.5) ? (-2.5) บริการทางการเกษตร -0.2 (-1.5) ? (-0.5) ป่าไม้ -1 0.3 - 1.3 ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร