นายสมชาย คังคะมณี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp. พบการระบาดครั้งแรกในประเทศอินโดนีเซียในปี 2559 และเมื่อปี 2562 เริ่มแพร่ระบาดในประเทศมาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา และไทย ซึ่งโรคดังกล่าวจะแพร่ระบาดโดยลมและฝน ต้องการน้ำเพื่อการขยายพันธุ์ จึงระบาดได้ดีในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก มีความชื้นสูง สำหรับประเทศไทย (ช้อมูลจากศูนย์วิจัยยางพารา ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563) พบการระบาด 14 จังหวัดภาคใต้ รวมพื้นที่เสียหายประมาณ 357,662 ไร่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่การระบาดมากที่สุด 4 อันดับแรกเป็นเขตภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ นราธิวาส 279,315 ไร่ ยะลา 55,180 ไร่ สงขลา 5,950 ไร่ และปัตตานี 4,770 ไร่ ซึ่งโรคใบร่วงยางชนิดนี้ทำให้ต้นยางพาราเกิดใบร่วงอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตซึ่งขณะนี้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือจังหวัดนราธิวาส ประกอบกับช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเกษตรกรจึงกรีดยางได้น้อยลง
สศท.9 ได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจข้อมูลปริมาณการผลิตยางพาราและติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 1,963,305 ไร่ พบการระบาด 5,950 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.35 ของเนื้อที่กรีดยางได้ในจังหวัด 1,704,760 ไร่ โดยอำเภอที่พบการระบาดมากที่สุด 3 อำเภอแรก ได้แก่ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย มีการระบาดในทุกพันธ์ยางที่ปลูก คือ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และพันธุ์ PB 311
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ลงพื้นที่สำรวจและติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคในเขตภาคใต้ตอนล่างอย่างเร่งด่วน พร้อมดำเนินการเก็บตัวอย่างของใบเพื่อนำมาวินิจฉัยเชื้อหาสาเหตุที่แน่ชัด โดยนำสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดนี้มาทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น คาร์เบนดาซิม โพรพิโคนาโซล เฮกซะโคนาโซล โพรพิโคนาโซลผสมกับไดฟีโนโคนาโซล เป็นต้น ซึ่งได้ผลลัพธ์ดี และขณะนี้ อยู่ระหว่างการขยายผลไปทดสอบในแปลงจริงร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะใช้ทั้งอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และเครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงชนิดลากสายในการฉีดพ่น
ทั้งนี้ สศท.9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือ ในการแก้ปัญหาโรคดังกล่าว โดยต้นยางที่มีอายุมากขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าต้นยางอายุน้อยขนาดเล็กซึ่งอาการใบร่วงจากเชื้อรานี้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยาง เนื่องจากมีใบร่วงมากกว่าร้อยละ 90 จึงเป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 30 ? 50 โดยเบื้องต้นเกษตรกรสามารถสังเกตอาการของโรคใบร่วงได้ด้วยตนเอง ซึ่งใบยางพาราโดยเฉพาะใบแก่จะมีลักษณะเป็นรอยช้ำเป็นกลุ่มเห็นชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะแสดงอาการเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะแห้งตาย เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด ซึ่งอาการโรครุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน หากเกษตรกรพบหรือสงสัยว่ายางพาราที่ปลูกเป็นโรคดังกล่าวให้รีบติดต่อ กยท. ในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบ วินิจฉัยโรค และหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร