นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ โดยเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและภูมิปัญญาในการพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคบนพื้นฐานการทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยในส่วนของจังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) โดยให้การสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ภายใต้แผนบูรณาการวิจัยการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจังหวัดอุดรธานีและหนองบัวลำภู การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชุมชนยั่งยืน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแปรรูปอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม ซึ่งนับเป็นกลุ่มวิสาหกิจตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้แปรรูปอ้อยอินทรีย์เพื่อสร้างมูคค่าให้กับสินค้าเกษตร และได้รับการสนับสนุนเครื่องรีดอ้อยแบบกึ่งอัตโนมัติ เครื่องกวนสำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์ไซรัปอ้อยชนิดให้ความร้อนด้วยแก๊สปิโตรเลียมเหลว ถังบรรจุผลิตภัณฑ์ไซรัปอ้อย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนศูนย์ AIC
จากการสัมภาษณ์นายสมบูรณ์ ภูน้ำทรัพย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ บอกเล่าว่า ครอบครัวของตน ได้เริ่มปลูกอ้อยอินทรีย์ (GAP,PGS) ตั้งแต่ปี 2554 พื้นที่ปลูกจำนวน 3 ไร่ และได้เล็งเห็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงโอกาสทางตลาดและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรวม จึงได้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจฯ ขึ้น เพื่อดำเนินการแปรรูปอ้อยอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ปัจจุบันมีสมาชิก 50 คน สำหรับการผลิตอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจฯ จะปลูกพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ใช้สำหรับหีบน้ำอ้อยสดโดยเฉพาะ ให้รสชาติหอม หวาน และพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นพันธุ์ที่ปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน ต้นทุนการผลิต ทั้ง 2 พันธุ์เฉลี่ย 4,000 ? 5,000 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 1 และสามารถเก็บเกี่ยวไปจนถึงอายุ 3 ปี) ให้ผลผลิตเฉลี่ย 8 ? 10 ตัน/ไร่/ปี ให้ผลผลิตรวมทั้งหมด 24 ตัน/ปี ระยะเวลาเก็บเกี่ยว พันธุ์สุพรรณบุรี 50 สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่วนพันธุ์ขอนแก่น 3 เก็บเกี่ยวช่วงเดือนธันวาคม - เมษายน
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ จะนำผลผลิตอ้อยอินทรีย์ทั้งหมด มาแปรรูปเป็นน้ำอ้อยสด น้ำอ้อยปึก น้ำอ้อยผง และน้ำอ้อยก้อน ซึ่งได้รับการรับรองจาก อย. และในส่วนของน้ำอ้อยไซรัป ขณะนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ อยู่ระหว่างดำเนินการขอ อย. เพิ่มเติมด้วยซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ครบ. (คริสตจักร โรงเรียน บ้าน) สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ส่งจำหน่ายที่เซ็นทรัล พลาซา อุดรธานี ส่วนผลิตภัณฑ์ร้อยละ 40 ส่งจำหน่ายร้านค้าในอำเภอศรีธาตุ อาทิ ร้านค้าในโรงพยาบาล ตลาด และร้านจำหน่ายสินค้า OTOP ประจำอำเภอ ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มวิสาหกิจฯ มีแผนจะขยายตลาดไปต่างประเทศในแถบเอเชียก่อน รวมถึงจะมีการเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินงานในอนาคต ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ มีแผนจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 20 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด และมีแผนจะผลิตถ่านอัดแท่งจากชานอ้อย รวมถึงมีโครงการที่จะปลูกอ้อยพันธุ์ Earth Safe RK03 ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 4 - 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วกว่าอ้อยพันธุ์ปกติเป็นเท่าตัว ทั้งนี้ การรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อพัฒนาผลผลิต แปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชน โดยการพัฒนาศักยภาพการผลิต การเกษตรแบบอินทรีย์ และการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชุมชนยั่งยืน สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อ้อยอินทรีย์ทางกลุ่มยินดีให้เข้ามาศึกษาดูงานได้ หรือขอคำปรึกษาได้ที่นายสมบูรณ์ ภูน้ำทรัพย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม 74 หมู่ที่ 11 ตำบลตาดทอง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี หรือ โทร. 094 1864 291
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร