สศก. โดย AFSIS จับมือ กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น ลุย โครงการ SAS-PSA มกราคม 64 นำร่อง ฉะเชิงเทรา สำรวจพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน สร้างความมั่นคงอาหาร ตามเป้า SDGs

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2020 14:01 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. โดย AFSIS จับมือ กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น ลุย โครงการ SAS-PSA
มกราคม 64 นำร่อง ฉะเชิงเทรา สำรวจพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน สร้างความมั่นคงอาหาร ตามเป้า SDGs

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความอดอยากหิวโหย โดยพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติ หรือ UN กำหนดให้ประเทศที่มีระดับความอดอยากหิวโหยมากกว่าร้อยละ 5 จะต้องรายงานผลของตัวชี้วัด SDGs 2.4.1 Proportion of Agricultural Area under Productive and Sustainable Agriculture หรือ สัดส่วนของเนื้อที่เกษตรที่ทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต่อเนื้อที่เกษตรทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 โดย UN ตั้งเป้าลดจำนวนผู้อดอยากหิวโหยทั่วโลกให้เหลือร้อยละ 5 ภายในปี 2025 และร้อยละ 3 ภายในปี 2030

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนผู้อดอยากหิวโหยอยู่ที่ร้อยละ 9 ดังนั้น จะต้องรายผลความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ตามตัวชี้วัด SDGs 2.4.1 ต่อ UN ภายในปี 2573 ซึ่งการรายงานผลของตัวชี้วัดนี้ดังกล่าว จะต้องรายงานในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรกรรมใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) ไม่ยั่งยืน (Unsustainable: สีแดง) 2) ยอมรับได้ (Acceptable: สีเหลือง) และ 3) ยั่งยืน (Desirable: สีเขียว) ทั้งนี้ ภายหลังจากปี 2573 จะต้องรายงานต่อเนื่องทุกๆ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 โดยได้ผลักดันการดำเนินงานตามตัวชี้วัด SDGs 2.4.1 สัดส่วนของเนื้อที่เกษตรที่ทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต่อเนื้อที่เกษตรทั้งหมดของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 - 2563 มีการดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนรวมทั้งสิ้น 4.38 ล้านไร่ โดยปี 2560 โดยได้เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนประมาณ 1.08 ล้านไร่ และดำเนินการเรื่อยมาจนในปี 2563 ได้เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนประมาณ 1.15 ล้านไร่

ล่าสุด สศก. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Food Security Information System (AFSIS) Project ได้ร่วมกับ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Ministry of Agriculture Forestry and Fisheries: MAFF) ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการ Supporting Agricultural Survey on Promoting Sustainable Agriculture in ASEAN Region หรือโครงการ SAS-PSA โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก MAFFประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสำรวจการเกษตรแบบยั่งยืน ตามตัวชี้วัด SDGs 2.4.1 และใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่ภาครัฐ และผู้วางนโยบายด้านการเกษตร สู่การเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคอาเซียน

?ในปีนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นก้าวสำคัญ ที่สำนักงานเลขานุการ AFSIS ได้ร่วมกับ MAFF ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการ SAS-PSA ซึ่งจะดำเนินการนำร่องสำรวจ (Pilot survey) ตัวชี้วัด SDGs 2.4.1 ตามระเบียบวิธีของ FAO และ ที่สำคัญ คือ จะเพิ่มข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ในแบบสำรวจด้วย ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านสังคม และจะดำเนินโครงการนำร่องสำรวจข้อมูลที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการผลิตสินค้าเกษตรที่หลากหลาย ทั้งพืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ และประมง และขยายผลการสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศต่อไป? เลขาธิการ สศก. กล่าว

ด้านนายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า สำหรับระยะเวลาดำเนินงานโครงการ SAS-PSA มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน (26 มีนาคม 2563 ? 25 พฤศจิกายน 2565) ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน (The 18th AFSIS Focal Point Meeting) มีมติให้ดำเนินโครงการนำร่องใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และลาว โดยเริ่มที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรก โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 เดือน (วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2564)

สำหรับกรอบที่จะนำมาใช้ในการกำหนดตัวอย่าง สศก. จะใช้เกษตรกรจากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกลาง (Farmer One) มาใช้ประกอบการพิจารณาและเลือกเกษตรกรตัวอย่างที่จะทำการสำรวจนำร่อง โดยเลือกอำเภอที่มีจำนวนประชากรเกษตรมากที่สุดของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ พนมสารคาม สนามชัยเขต บางน้ำเปรี้ยว เมืองฉะเชิงเทรา และบ้านโพธิ์ ซึ่งคาดว่าการสำรวจจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 และจะมีการจัดประชุม สรุปผลการดำเนินการและนำเสนอร่างรายงานผลการสำรวจตามโครงการนำร่องสำรวจ (Pilot Survey) ตามตัวชี้วัด SGDs 2.4.1 ของประเทศไทย (In-country Wrap up Meeting) ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 พร้อมทั้งได้วิเคราะห์และ จัดทำรายงานผลการสำรวจตามโครงการนำร่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2564

***********************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเลขานุการ AFSIS ศูนย์สารสนเทศการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ