สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 7, 2020 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2563

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.50 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,762 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,301 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.48

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,299 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,230 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.45

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 893 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,786 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ888 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,697 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.56 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 89 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 512 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,358 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 503 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,122 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.79 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 236 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ509ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,268 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,032 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.80 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 236 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.9958 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the General Statistics Office) รายงานว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 388,000 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาส่งผลให้ในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 5.74 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากช่วงนี้กำลังมีการเร่งส่งมอบข้าวให้แก่ประเทศจีนและฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่คำสั่งซื้อจากตลาดอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และประเทศในแถบแอฟริกายังมีไม่มากนัก และในช่วงนี้เกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวจากฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) บ้างแล้ว โดยข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 495-500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

จากการรายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง (Minister of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF) ว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 กัมพูชามีการส่งออกข้าวมากกว่า 600,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สำหรับการส่งออกข้าว จำแนกเป็น ข้าวหอมประมาณ 481,000 ตัน ข้าวสีชนิดต่างๆ ประมาณ 113,703 ตัน และข้าวนึ่งประมาณ 6,151 ตัน มีประเทศมากกว่า 60 ประเทศที่สั่งซื้อข้าวจากกัมพูชาในช่วง 11 เดือนแรก

โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวไปจีนประมาณ 234,940 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 39.09) สหภาพยุโรปประมาณ 188,436 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 31.35) อาเซียนประมาณ 78,208 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 13.01) และประเทศอื่นๆ 29 ประเทศ ประมาณ 99,461 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 16.55)

ที่มา: sggpnews.org.vn

ฟิลิปปินส์

สำนักข่าว The Inquirer.net รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร(The Agriculture Secretary) ของฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตร (the Department of Agriculture; DA)ได้หยุดการอนุมัติใบอนุญาตสุขอนามัยในการนำเข้าข้าว (SPSIC) ให้ผู้ค้าและผู้นำเข้า โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้หน่วยงาน Bureau of Plant Industry (BPI) ภายใต้กระทรวงเกษตรจะไม่ออกใบอนุญาต SPSIC (sanitary and phytosanitary import clearances) เพิ่มเติมอีก เนื่องจากปริมาณข้าวนำเข้ามีเกินความต้องการของประเทศแล้วทั้งนี้จากข้อมูลของ BPI ณ เดือนกันยายน 2563 พบว่า BPI ได้ออกใบอนุญาต SPSIC ไปแล้ว 2,439 ฉบับ เพิ่มขึ้นจาก 2,324 ฉบับในปีก่อน และข้อมูลปริมาณสต็อกข้าวในประเทศพบว่าสต็อกข้าวที่มีอยู่เพียงพอส่าหรับ 88 วันซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศไปจนถึงเดือนมกราคม 2564

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าวฟิลิปปินส์ (the Philippine Rice Industry Stakeholders? Movement; PRISM) ได้ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรกลับมาพิจารณาออกใบอนุญาต SPSIC เพื่อไม่ให้การจัดหาข้าวเกิดการหยุดชะงัก หลังจากฟิลิปปินส์ประสบภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นหลายลูกในช่วงที่ผ่านมา

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากระทรวงเกษตรได้ขอความร่วมมือให้ผู้นำเข้าหลีกเลี่ยงการนำเข้าข้าวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกภายในประเทศ ซึ่ง PRISM ได้สอบถามกระทรวงเกษตรอย่างต่อเนื่องว่าจะกลับมาพิจารณาออกใบอนุญาต SPSIC เมื่อใด ซึ่งตามรายงานข่าวล่าสุดจากกระทรวงเกษตรระบุว่าอยู่ในระหว่างการหารือ

ทั้งนี้ PRISM ระบุว่าตามกฎหมายเปิดเสรีการนำเข้าข้าว หาก BPI ไม่สามารถออกใบอนุญาต SPSIC ได้ภายใน 7 วัน โดยที่ไม่ได้แจ้งผู้นำเข้าถึงความผิดพลาด การละเลย หรือเอกสารที่ต้องการเพิ่มเติม จะถือว่าใบอนุญาต SPSIC ดังกล่าวได้รับการอนุมัติโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ PRISM เห็นว่าความล่าช้าในการออกใบอนุญาต SPSIC จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ โดยคาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงใกล้สิ้นปีรวมทั้งท่าเรือจะมีความแออัดอย่างมาก เนื่องจากมีวันหยุดติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯคาดว่าในปีนี้จะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 2.3 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับจำนวน 3 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมาสำนักงานสถิติแห่งชาติ(the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม 2563 ราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่ราคาข้าวสารในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (ราคาข้าวเคยปรับสูงขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน 2561)

โดยราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย (The average farm-gate paddy price) อยู่ที่ 15.36 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ319 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 15.42 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ321 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงประมาณร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารเกรดดี(The average wholesale price of the well-milled rice) อยู่ที่ 37.57 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 781 ดอลลาร์สหรัฐฯสูงขึ้นจาก 37.48 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ780 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า และสูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนราคาขายปลีกข้าวสารเกรดดี(The average retail price of the well-milled rice) อยู่ที่ 41.48 เปโซต่อกิโลกรัมหรือประมาณตันละ 862 ดอลลาร์สหรัฐฯสูงขึ้นจาก 42.43 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 861 ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ลดลงประมาณร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ราคาขายส่งข้าวสารเกรดธรรมดา (The average wholesale price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 33.47 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 696 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 33.45 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 696 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วและราคาขายปลีกข้าวสารเกรดธรรมดา (The average retail price of the regular-milled rice) อยู่ที่ระดับ 36.58 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 760 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 36.67 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 763 เหรียญสหรัฐต่อตันเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงประมาณ 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ