นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ร่วมประชุมออนไลน์ United Nation Framework Convention on Climate Change Dialogues หรือ UNFCCC Climate Change Dialogues ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานของรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงประเด็นด้านการเกษตร โดยการประชุมดังกล่าว มีการแลกเปลี่ยนประเด็นด้านการเกษตร 2 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญอยู่ ได้แก่ ประเด็นการปรับปรุงระบบการจัดการด้านปศุสัตว์และระบบการผลิตหญ้าอาหารสัตว์ และประเด็นมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงทางอาหารของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตร
จากการรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) คาดการณ์ว่า การบริโภคโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์ทั่วโลก จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เป็นร้อยละ 50 ในปี 2593 ซึ่งปัจจุบัน ภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง ดังนั้น หลายประเทศ จึงได้ปรับปรุงระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ เช่น การปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์ที่ให้เนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในฟาร์ม การคิดค้นนวัตกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคปศุสัตว์
สำหรับความมั่นคงอาหารและระบบอาหาร เป็นอีกประเด็นท้าทายของโลก สถาบันวิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพอทสดัม (Porsdam Institute for climate change impact research : PIK) ระบุว่า ระบบการผลิตอาหารในปัจจุบัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 30 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก การเพิ่มขึ้นของประชากรจะทำให้ต้องผลิตอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการวางแผนระบบการผลิตอาหารที่มีความสมดุลของมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะช่วยสามารถผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากการหารือร่วมกันในที่ประชุมหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย รวมถึงไทย แอฟริกาและละตินอเมริกา ยังคงต้องการความช่วยเหลือมิติด้านการเงิน องค์ความรู้ ทักษะต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงระบบปศุสัตว์ในประเทศให้สามารถผลิตสินค้าปศุสัตว์ ให้เพียงพอต่อความต้องการและคำนึงถึงมิติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย และยังได้นำเสนอแนวทางการสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตอาหารและการรับมือจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การใช้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ที่ดิน การส่งเสริมการทำเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดขยะอาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการเกษตร 2 ประเด็นข้างต้น กำหนดไว้ใน Koronivia Roadmap ภายใต้ ?การทำงานร่วม Koronivia? (Koronivia Joint Work on Agriculture: KJWA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขอการเจรจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตร โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ยังคงให้ความสำคัญกับการเรียกร้องให้เกิดความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนภาคเกษตร โดยเน้นการสนับสนุนด้านการเงิน การพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพด้านการปรับตัวของภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตาม Roadmap ของ KJWA จะสิ้นสุดลงในปี 2020 ดังนั้น จะต้องมีการเจรจาในประเด็นที่ต้องการผลักดันในอนาคตของ KJWA ว่าจะมีทิศทางต่อไปอย่างไร ในการประชุมรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ในช่วงปลายปี 2564 ที่กรุงกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ต่อไป
************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร