นายเกษม ชาติทอง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำ ปี 2563 ที่ผ่านมา มีค่าต่ำกว่าปีปกติเนื่องจากปริมาณน้ำฝนตกตลอดฤดูน้อยกว่าปีก่อนส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่าง ๆ ส่วนใหญ่ไม่เพียงพอที่จัดสรรให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแผนปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/2564 จำนวน 5.64 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวรอบที่ 2 จำนวน 3.12 ล้านไร่ พืชไร่ พืชผัก จำนวน 2.52 ล้านไร่ ซึ่งจากข้อจำกัดที่การปลูกข้าวนาปรังเป็นพืชที่มีความต้องการใช้น้ำปริมาณมากกว่าพืชชนิดอื่น และเมื่อแหล่งน้ำไม่เพียงพอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูก พืชหลังนาที่ใช้น้ำน้อยจึงเป็นทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทดแทน จึงมีการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่มีความเหมาะสมในช่วงฤดูแล้งทดแทนการทำนา รอบที่ 2 เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน เป็นต้น
หากมองสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานีเพชรบูรณ์) เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประเทศไทยมีความต้องการสูงถึงปีละ 8.5 ล้านตัน แต่สามารถผลิตได้เพียง 4.8 ล้านตัน และราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับนโยบายรัฐ มีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูกาลทำนาซึ่งปัจจุบันภาคเหนือตอนล่างมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนารวม 258,818ไร่ ให้ผลผลิตรวม 211,431 ตัน
จากการลงพื้นที่ของ สศท.12 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างข้าวนาปรังในช่วงเวลาเดียวกัน (ณ เดือนธันวาคม 2563) เพื่อศึกษาต้นทุนการผลิตพืชฤดูแล้งสำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิต ซึ่งจากการศึกษา พบว่า จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาประมาณ 89,965 ไร่ แหล่งปลูกสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมือง หล่มสัก และหล่มเก่าเนื่องจากพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา จึงมีศักยภาพในการปลูกข้าวโพดหลังนาเพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ของเกษตรกร และที่สำคัญเป็นพืชที่มีความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกเพียง 400 ? 500 ลบ.ม./ไร่ เท่านั้น สำหรับต้นทุนการผลิต 5,350 บาท/ไร่ ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 115 - 120 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 856 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 7,900 บาท/ตัน เกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 6,762 บาท/ไร่ ในขณะที่ข้าวนาปรังมีความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกมากถึง 1,100 ? 1,300 ลบ.ม./ไร่ ต้นทุนการผลิต 4,863 บาท/ไร่ ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 90 - 120 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 595 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 8,404 บาท/ตัน เกษตรกรจะมีรายได้ 5,000 บาท/ไร่ ดังนั้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา จึงนับเป็นพืชทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ที่ใช้น้ำน้อย และให้ผลตอบแทนสูง รวมถึงยังช่วยตัดวงจรการเจริญเติบโตและการสะสมของโรคแมลงในนาข้าวได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด เกษตรกรควรหมั่นตรวจดูแลรักษาแปลง และควรเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด อาจสร้างความเสียหายกับผลผลิตได้ ทั้งนี้ จึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งนี้ สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ โทร.0 5680 3525 หรืออีเมล zone12@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร