สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์
วันที่ 11 - 15 มกราคม 2564
สัปดาห์นี้ ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าตลาดลดลง ส่งผลให้ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ปรับเพิ่มขึ้นจากหาบละ 546 บาท เป็นหาบละ 555 บาท
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 13 มกราคม 2564 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนมีนาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 524.5 เซนต์/บุชเชล ราคาขยับสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ ปี 2556 เป็นต้นมา โดยคาดการณ์ภาวะอุปสงค์-อุปทานสินค้าเกษตรโลก (WASDE) ฉบับเดือนมกราคมของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ปรับลดผลผลิตต่อไร่ลง จาก 175.8 บุชเชลต่อเอเคอร์ เป็น 172.0 บุชเชลต่อเอเคอร์ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดฤดูกาล 2563/64 ลดลงอยู่ที่ 14,182 ล้านบุชเชล นอกจากนี้สภาวะความแห้งแล้งในทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลให้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโพดลดลงทั้งประเทศบราซิลและอาร์เจนตินา โดยอยู่ที่ 109 ล้านตัน และ 47.5 ล้านตัน ตามลำดับ
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง
กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 17.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 19.35 บาท ปริมาณการซื้อในตลาดยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ สภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศผู้ผลิตฝั่งอเมริกาใต้ ทำให้คาดการณ์ผลผลิตน้อยลง ประเทศอาร์เจนตินาได้ปรับภาษีการส่งออกกากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น รวมทั้งการประท้วงภายในประเทศ ทำให้ตลาดยังคงมีความกังวลว่าปริมาณผลผลิตจะไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ราคายังคงแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 13 มกราคม 2564 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนมีนาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 1,406.25 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนมีนาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 660.50 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน การส่งออกในอาร์เจนตินาที่ช้ากว่าค่าเฉลี่ยในฤดูกาลนี้ ทำให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ปรับตัวเลขคาดการณ์การบดถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นจาก 2,195 ล้านบุชเชล เป็น 2,200 ล้านบุชเชล และปรับการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 2,230 ล้านบุชเชล ระดับสต๊อกถั่วเหลืองสหรัฐฯ ฤดูกาล 2563/64 รายงานอยู่ที่ 140 ล้านบุชเชล นอกจากนี้มีรายงานส่งออกถั่วเหลืองสหรัฐฯ จำนวน 464,300 ตัน แบ่งเป็น 396,300 ตันฤดูกาล 2563/64 และ 68,000 ตันฤดูกาล 2564/65
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะยืนแข็ง
แม้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศเปรูจะจับปลาได้ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยยังคาดการณ์ว่าจะสามารถจับปลาได้เกิน 90% ของโควต้า ส่งผลให้ราคาตลาดยังคงทรงตัวแต่มีแนวโน้มที่อาจจะปรับตัวขึ้นได้ เนื่องจากใกล้สิ้นฤดูการจับปลาในปลายเดือนมกราคมนี้แล้ว ด้านผู้ซื้อหลัก อย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ระหว่างสร้างสต๊อก เพื่อเตรียมหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีน
โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 43.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 30.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 28.20 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 27.70 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 25.20 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
สถานการณ์การซื้อขายข้าวขณะนี้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และอยู่นอกเวลาการเก็บเกี่ยว ขณะที่ข้าวเปลือกในตลาดลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาซื้อขายข้าวปรับตัวสูงขึ้น
โดยตลาดซื้อขายข้าวต่างประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 545 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 560 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาปรับขึ้นเล็กน้อยจากตันละ 472 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 475 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,500 บาท เป็นกระสอบละ 1,530 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ยืนราคาที่กระสอบละ 1,280 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในสัปดาห์นี้ ยืนแข็งที่กิโลกรัมละ 80 บาท โดยสมาคมฯ ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้จำหน่ายสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มสูงสุดไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในสถานการณ์โควิด-19 ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,700 บาท (บวก/ลบ 80)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ประกาศราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 32 บาท โดยการบริโภคดีขึ้น จากการที่ประชาชนหลายครัวเรือนต้องการลดการออกจากบ้านในสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้มีปริมาณการซื้อสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ แต่ยังคงสมดุลกับปริมาณผลผลิต
ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 8.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร เพิ่มขึ้นจากฟองละ 2.50 บาท เป็นฟองละ 2.70 บาท เนื่องจากมีความต้องการใช้ภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ในสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ประชาชนนิยมนำมาประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้านเพิ่มมากขึ้น
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว
ที่มา: บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)