เผยผลศึกษา ‘ข้าวหอมมะลิอินทรีย์’ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 11, 2021 13:26 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เผยผลศึกษา ?ข้าวหอมมะลิอินทรีย์? กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ

นางสาวสมบัติ พุทธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำ ?แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565? ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมมือขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภายใต้กลุ่มจังหวัดครอบคลุม 13 กลุ่ม 56 จังหวัด โดยกลุ่มจังหวัดภาคกลางได้ร่วมกันขับเคลื่อนตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาดให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร

สศท.7 ได้ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบนที่ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ (ลพบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง) ศึกษาห่วงโซ่คุณค่าของข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน เพื่อเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และเป็นข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อมูลปีเพาะปลูก 2563 ของเกษตรกรที่เพาะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม 2563 พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์พันธุ์หอมมะลิ 105 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มกษ. 9000 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลางตอนบน รวม 115 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 3,739 ไร่ โดยข้าวหอมมะลิอินทรีย์ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,344.29 บาท/ไร่ มีระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 120 ? 150 วัน ให้ผลผลิต 510.22 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทน 5,612.41 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 2,268.12 บาท/ไร่ ในขณะที่ข้าวทั่วไปที่ใช้สารเคมี มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,175.31 บาท/ไร่ มีระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 120 ? 150 วัน ให้ผลผลิต 657.05 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทน 5,144.75 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 969.44 บาท/ไร่จะเห็นได้ว่า การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ มีต้นทุนต่ำกว่าข้าวทั่วไปที่ใช้สารเคมีร้อยละ 20 เนื่องจากไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีสังเคราะห์ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารชีวภาพบางชนิดก็สามารถทำได้เองจากของเหลือใช้ที่หาได้ทั่วไปทำให้ต้นทุนในส่วนนี้ต่ำกว่าการผลิตข้าวทั่วไป แต่กลับให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าข้าวทั่วไปกว่า 3 เท่า อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ต้องใช้ความอดทนและเอาใส่ใจของเกษตรกรเป็นพิเศษ ทั้งการปรับปรุงบำรุงดิน การควบคุมโรคและแมลง การรักษามาตรฐานการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานการรับรอง และยังควบคุมปริมาณผลผลิตได้ยากกว่าการผลิตข้าวแบบทั่วไป แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน ทั้งในส่วนของผลตอบแทนที่เป็นจำนวนเงิน และสุขภาพที่ดีขึ้น รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และตัวเกษตรกรผู้ปลูกเองด้วย

ในส่วนของการจำหน่ายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลางตอนบนนั้น จะแบ่งเป็นการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิอินทรีย์ให้โรงสีข้าวอินทรีย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และชัยนาท คิดเป็นร้อยละ 36 และจำหน่ายให้โรงสีข้าวอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 28 สำหรับราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิอินทรีย์ความชื้น 15% อยู่ที่ 14,000 ? 16,000 บาท/ตัน ความชื้น 25 ? 28% อยู่ที่ 11,000 บาท/ตัน และอีกร้อยละ 36 จำหน่ายข้าวหอมมะลิอินทรีย์แปรรูป โดยเกษตรกรจ้างโรงสีข้าวอินทรีย์ดำเนินการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง และนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคเองโดยตรง ในราคา 40 ? 60 บาท/กิโลกรัม หากจำหน่ายออนไลน์ราคาอยู่ที่ 70 - 90 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ โรงสีข้าวอินทรีย์จะรับซื้อและรับแปรรูปข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิก และได้รับมาตรฐานอินทรีย์เท่านั้น

นางสาวสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เกษตรกรจะให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนการผลิต และการเตรียมความพร้อมที่พิถีพิถัน ซึ่งจะแตกต่างจากการผลิตข้าวทั่วไป เนื่องจากไม่สามารถใช้สารเคมีสังเคราะห์ได้ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น การไม่เผาตอซังข้าว การปลูกพืชบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ และจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน และการวิเคราะห์ดินในแปลงนาทุกปี การเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรค และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว การใช้กับดัก หรือสารสกัดจากพืชบางชนิด หรือแม้กระทั่งรักษาสมดุลทางธรรมชาติ ส่วนการเก็บรักษาข้าวหอมมะลิอินทรีย์นั้น ต้องมีการจัดการในโรงเก็บ มีการกำจัดศัตรูข้าวในสถานที่เก็บด้วยวิธีต่าง ๆ โดยที่ไม่ใช้สารเคมี เช่น การหมั่นทำความสะอาดสถานที่เก็บข้าว พ่นสารสกัดจากพืช เพื่อป้องกันกำจัดแมลงที่พื้น ฝาผนัง และที่ว่างของโรงเก็บ หรือใช้กิ่งของต้นยี่โถเพื่อไล่หนู การคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ดอกดีปลีแห้ง ว่านน้ำผง เป็นต้น ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลหรือผลการศึกษาวิจัยการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร. 0 5640 5005 หรืออีเมล์ zone7@oae.go.th

***********************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ