สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 15, 2021 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 8 - 14 มีนาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3)โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,778 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,788 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,216 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,244 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 27,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 27,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,630 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 861 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,210 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 873 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,266 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 56 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 526 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,012 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 544 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,367 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.31 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 355 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 526 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,012 บาท /ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 540 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,247 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.59 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 235 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.4416 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2563/64 ณ เดือนมีนาคม 2564ผลผลิต 504.411 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 497.709 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2562/63 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35 2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2563/64 ณ เดือนมีนาคม 2564 มีปริมาณผลผลิต 504.411 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.35 การใช้ในประเทศ 504.693 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.69 การส่งออก/นำเข้า 46.139 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2562/63 ร้อยละ 2.67 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 177.833 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2562/63 ร้อยละ 0.16

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา จีน กายานา อินเดีย ปากีสถาน ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล อียู ปารากวัย ตุรกี และอุรุกวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ เอธิโอเปีย อียู กานา อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น เคนย่า ไนจีเรีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ เบนิน บราซิล จีน กินี มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตร ประมงและป่าไม้ (the Ministry of Agriculture, Fisheries and Forests; MAFF) ประกาศผลการประมูลนำเข้าข้าวแบบ Simultaneous Buy and Sell (SBS) tender ครั้งที่ 8 ของปีงบประมาณ 2564 (1 เมษายน 2563 - 31 มีนาคม 2564) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ซึ่งกำหนดจะซื้อข้าวจำนวน 47,015 ตัน ประกอบด้วยข้าวกล้องหรือข้าวสาร (Whole kernel) จำนวน 44,015 ตัน และข้าวหัก/ปลายข้าว (Broken) จำนวน 3,000 ตันโดยกำหนดส่งมอบวันที่ 15 สิงหาคม 2564

ผลการประมูลปรากฏว่า มีการประมูลซื้อและขายข้าวได้จำนวนรวม 7,288 ตัน แบ่งเป็นข้าวเต็มเมล็ด (whole grain/brown rice) จำนวน 5,402 ตัน และข้าวหัก (broken rice) จำนวน 1,886 ตัน โดยในส่วนของข้าวเต็มเมล็ดนั้น ประกอบด้วยข้าวจากสหรัฐฯ จำนวน 3,284 ตัน ข้าวจากอิตาลี จำนวน 102 ตัน ข้าวจากอินเดีย จำนวน 260 ตัน

ข้าวจากไทย จำนวน 790 ตัน (ข้าวสารเมล็ดยาว จำนวน 748 ตัน และข้าวสารเมล็ดกลาง จำนวน 42 ตัน) ข้าวจากปากีสถาน จำนวน 365 ตัน ข้าวจากเวียดนาม จำนวน 150 ตัน และข้าวจากจีน จำนวน 460 ตัน ส่วนข้าวหักนั้น ประกอบด้วย ข้าวจากสหรัฐฯ จำนวน 1,386 ตัน และข้าวจากไทย จำนวน 500 ตัน

ทั้งนี้ การประมูลนำเข้าข้าวแบบ SBS ทั้ง 7 ครั้งของปีงบประมาณ 2563/64 ซึ่งมีการประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่25 กันยายน 2563 มาจนถึงครั้งล่าสุดนี้ ญี่ปุ่นได้ซื้อข้าวไปแล้วเป็นจำนวนรวม 52,645 ตัน ประกอบด้วยข้าวจากสหรัฐฯ จำนวน 37,431 ตัน ข้าวจากไทย จำนวน 5,584 ตัน เป็นต้น

การประมูลแบบ SBS รัฐบาลญี่ปุ่นจะซื้อข้าวจากแหล่งกำเนิดต่างๆ จากผู้ค้าข้าวญี่ปุ่นหลายรายในราคาเดียว หลังจากนั้นก็จะขายข้าวคืนให้กับบริษัทเหล่านั้นในราคาที่สูงกว่าเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ ซึ่งทุกการซื้อขายจะต้องชำระภาษีในอัตราร้อยละ 8 ด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตร ประมงและป่าไม้ ยังได้ประกาศผลการประมูลนำเข้าข้าวแบบ MA (ordinary international tenders) ครั้งที่ 11 ปีงบประมาณ 2563/64 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งกำหนดซื้อข้าวรวม 37,980 ตัน ประกอบด้วย (1) ข้าวสารเมล็ดยาว (mochi milled long-grain rice) จากประเทศไทย จำนวน 2 ล็อต แบ่งเป็น 1,000 และ 980 ตัน กำหนดส่งมอบวันที่ 15 มิถุนายน 2564 (2) ข้าวสารเมล็ดกลาง (Non-glutinous polished medium grain rice) จากประเทศใดก็ได้ (Global tender) จำนวน 2 ล็อต แบ่งเป็นล็อตละ 12,000 ตัน รวมเป็น 24,000 ตัน กำหนดส่งมอบวันที่ 20 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2564 และวันที่ 10 กรกฎาคม - 20 สิงหาคม 2564 และ (3) ข้าวสารเมล็ดยาว (Non-glutinous milled long grain rice) จากประเทศใดก็ได้ (Global tender) จำนวน 2 ล็อต แบ่งเป็นล็อตละ 6,000 ตัน รวมเป็น 12,000 ตัน กำหนดส่งมอบวันที่ 20 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2564

ผลการประมูลปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมยื่นเสนอราคาจำนวน 31 ราย โดยญี่ปุ่นตกลงซื้อข้าวสารเมล็ดกลางจากสหรัฐฯ 12,000 ตัน และจีน 12,000 ตัน จากที่มีผู้ยื่นเสนอราคา 14 ราย และซื้อข้าวสารเมล็ดยาวจากไทย จำนวน12,000 ตัน และ 1,980 ตัน จากที่มีผู้ยื่นเสนอราคารวม 17 ราย โดยราคาที่ประมูลได้เฉลี่ยอยู่ที่ 93,102 เยนต่อตัน (ไม่รวมภาษี) (ประมาณ 859 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) หรือที่ 100,550 เยนต่อตัน (รวมภาษี) (ประมาณ 927 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน)

ทั้งนี้ การประมูลนำเข้าข้าวแบบ MA ทั้ง 10 ครั้ง ของปีงบประมาณ 2563/64 ซึ่งมีการประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่19 มิถุนายน 2563 มาจนถึงครั้งที่ 10 ญี่ปุ่นได้ซื้อข้าวไปแล้วจำนวนรวม 492,050 ตัน ประกอบด้วยข้าวจากสหรัฐฯ (ข้าวสารเมล็ดกลาง) จำนวน 217,000 ตัน ข้าวจากไทยจำนวน 227,050 ตัน ประกอบด้วยข้าวสารเมล็ดยาว จำนวน 222,750 ตัน และข้าวเหนียวเมล็ดยาว จำนวน 4,300 ตัน นอกจากนี้ยังซื้อข้าวจากประเทศจีน (ข้าวสารเมล็ดกลาง) จำนวน 48,000 ตัน

กระทรวงเกษตร ประมงและป่าไม้ ยังได้ประกาศเปิดการประมูลนำเข้าข้าวแบบ CPTPP SBS ครั้งที่ 6 ของปีงบประมาณ 2564 ในวันที่ 16 มีนาคม 2564 ซึ่งกำหนดจะซื้อข้าวจำนวน 5,405 ตัน จากประเทศสมาชิก CPTPP ทั้งนี้ การประมูลนำเข้าข้าวแบบ CPTPP SBS ครั้งที่ 5 ของปีงบประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ซึ่งกำหนดจะซื้อข้าวประมาณ 5,405 ตัน จากประเทศสมาชิกกลุ่ม CPTPP นั้น ปรากฏว่าไม่มีผู้ยื่นประมูล

ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership; CPTPP) เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติซึ่งริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2549 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย เปรู ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

ที่มา : Oryza.com

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ