สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 5, 2021 13:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3)โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,886 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 11,810 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,427 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,436 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 25,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,470 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.21

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 810 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,104 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 836 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,713 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.11 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 609 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,775 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 522 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,055 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.49 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 280 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,775 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 522 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,055 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.49 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 280 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9929 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินโดนีเซีย

หน่วยงาน BULOG (The State Logistics Agency) รายงานว่าได้จัดหาข้าวจากเกษตรกรที่มีการเก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตหลักได้แล้วประมาณ 1 ล้านตัน เพื่อเก็บสต็อกเข้าโครงการของรัฐบาล (the Government?s Rice Reserve; CBP) โดยหน่วยงานสามารถจัดหาข้าวจากเกษตรได้เฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 ตัน และมีแนวโน้มที่จะจัดหาได้มากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดี Joko Widodo (Jokowi) ให้สัมภาษณ์ว่าหน่วยงาน BULOG จะดำเนินการจัดหาข้าวจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางปีนี้ ดังนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ประธานาธิบดี Joko Widodo กล่าวว่าบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการนำเข้าข้าวกับไทยและเวียดนามถือเป็นมาตรการป้องกันความเสี่ยงในการขาดแคลนสินค้าข้าว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินโดนีเซีย (Indonesia?s Meteorology and Geophysics agency; BMKG) พยากรณ์ว่า ฤดูแล้งในปีนี้จะมาถึงล่าช้ากว่ากำหนด โดยสภาพอากาศจากปรากฏการณ์ La Nina จะยาวนานจนถึงเดือนพฤษภาคมในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาพอากาศที่เปียกชื้นมากในบางภูมิภาคโดยคาดว่าในพื้นที่บางส่วนของเกาะ Sumatra, Java, Sulawesi และ Papua จะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งในช่วงเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเกิดภาวะฝนตกหนักและลมพัดแรง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุทกภัยและดินถล่มได้ในบางพื้นที่ โดยคาดว่าหากในปีนี้ยังคงมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของประเทศซึ่งโดยปกติจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนเมษายน

ที่มา : Oryza.com

บังคลาเทศ

มีรายงานว่า บริษัท the Vietnam Southern Food Corporation ของเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงขายข้าวขาว 5% จำนวน 50,000 ตัน ให้แก่บังคลาเทศในราคา 605 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (cost, insurance and freight) (คิดเป็นประมาณ 520-522 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน FOB) โดยคาดว่าจะเริ่มมีการส่งมอบในเดือนเมษายนเป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของบังกลาเทศ (Bangladesh's Cabinet Committee on Economic Affairs) ได้อนุมัติข้อเสนอนำเข้าข้าวรวม 350,000 ตัน ภายใต้วิธีการจัดซื้อโดยตรง (direct procurement method; DPM) จากประเทศอินเดีย ไทย และเวียดนาม โดยบังคลาเทศจะซื้อข้าวนึ่งที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ (non-basmati parboiled rice) จำนวน 150,000 ตัน จากบริษัทจัดหาพัสดุของรัฐปัญจาบ (the Punjab State Civil Supplies Corporation Ltd; PUNSUP) ของอินเดีย และซื้อข้าวจากสภาเกษตรกรแห่งชาติของจังหวัดสกลนคร (Sakonnakhon National Farmers Council) ของประเทศไทย จำนวน 150,000 ตัน และซื้อข้าวขาว จำนวน 50,000 ตัน จากบริษัท Vietnam's Southern Food Corporation (VINAFOOD) ของเวียดนาม ซึ่งการนำเข้าข้าวจากหลายแหล่งเพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาข้าวจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สถานทูตบังคลาเทศที่ตั้งอยู่ในแต่ละประเทศเป็นผู้เจรจากับตัวแทนของหน่วยงานดังกล่าว เกี่ยวกับราคาและข้อตกลงที่จะมีการซื้อขาย

ทางด้านหน่วยงาน Directorate General of Food (DGF) รายงานผลการประมูลนำเข้าข้าว (INTERNATIONAL QUOTATION NOTICE FOR IMPORT OF NON-BASMATI PARBOILED RICE (PACKAGE10) UNDER 2020-21) ครั้งที่ 10 ซึ่งกำหนดจะซื้อข้าวนึ่งที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ จำนวน 50,000 ตัน (+/- 5%) โดยให้ยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 18 มีนาคม 2564 และข้อเสนอต้องมีผลไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 นั้น ปรากฏว่า รัฐบาลได้อนุมัติให้ซื้อข้าวจากอินเดียในราคา 430.33 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) จากบริษัท PK Agri Link Private Ltd. ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานว่าการประมูลครั้งนี้มีบริษัทจากอินเดีย 2 ราย ยื่นเสนอข้าวจากอินเดียโดยราคาต่ำสุดคือ 417.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) ส่วนอีกรายเสนอราคาที่ 449.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out)

สำหรับความคืบหน้าการประมูลอีก 2 ครั้ง ซึ่งหน่วยงาน Directorate General of Food (DGF) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 11 และ 15 มีนาคม 2564 เพื่อเปิดประมูลนำเข้าข้าว (INTERNATIONAL QUOTATION NOTICE FOR IMPORT OF NON-BASMATI PARBOILED RICE UNDER 2020-21) ครั้งที่ 11 และครั้งที่ 12 ซึ่งจะซื้อข้าวนึ่งที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติครั้งละจำนวน 50,000 ตัน (+/- 5%) โดยกำหนดให้ยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 24 และ 28 มีนาคม 2564 และข้อเสนอต้องมีผลไปจนถึงวันที่ 7 และ 11 เมษายน 2564 โดยกำหนดให้ผู้สนใจต้องยื่นข้อเสนอราคาในเทอม CIF (CIF liner out terms, including cost, insurance, freight and ship unloading costs) สำหรับส่งมอบไปที่ท่าเรือ Chattogram และ Mongla และกำหนดให้มีการส่งมอบข้าวภายในระยะเวลา 40 วัน หลังจากที่มีการทำสัญญาแล้วนั้น มีรายงานการประมูลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมยื่นเสนอราคาจำนวน 6 ราย โดยบริษัท PK Agri Link ยื่นเสนอราคาต่ำที่สุดที่ 411.93 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) จนถึงขณะนี้บังคลาเทศได้จัดประมูลเพื่อซื้อข้าวจากต่างประเทศไปแล้ว จำนวน 12 ครั้ง รวม 560,000 ตัน ซึ่งมีทั้งข้าวนึ่งและข้าวขาว

ที่มา : Oryza.com

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ