นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการ APEC Policy Partnership on Food Security Roadmap Intersessional Webinar ภายใต้กรอบเอเปค ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2564 โดยมี Mr. Philip Houlding ผู้อำนวยการกองนโยบายระหว่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานของนิวซีแลนด์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2564 เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อจัดทำแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (The Food Security Roadmap towards 2030) ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีการหารือใน 4 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ 1) การสร้างความยืดหยุ่นในระบบอาหารของเอเปคเพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ และสามารถรับมือจากแรงกดดัน ความตึงเครียดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ 2) การส่งเสริมระบบอาหารแบบองค์รวมสำหรับ SMEs สตรี และชนพื้นเมือง 3) การเพิ่มผลผลิตประสิทธิภาพและนวัตกรรม และ 4) กำหนดเป้าหมายที่ชาญฉลาดและการติดตามการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนิวซีแลนด์ ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ผู้แทนจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นำเสนอแนวทางการสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานเพื่อจัดการกับความท้าทายที่มีต่อโรคโควิด-19 ในระบบอาหารของเอเปค โดยมุ่งเน้นการพัฒนานโยบายการเกษตรในอนาคต เพื่อสร้างความยืดหยุ่นของระบบอาหาร ปรับปรุงความมั่นคงอาหารและโภชนาการ สนับสนุนวิถีการดำรงชีวิตในชนบทที่มีความยั่งยืน ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม
สำนักงานประสานงานด้านวิทยาศาสตร์ของชนพื้นเมืองด้านการเกษตรและเกษตร-อาหาร จากแคนาดา ได้นำเสนอการมีส่วนร่วมของกลุ่มสตรีในระบบอาหาร รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจระหว่างชนพื้นเมืองกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชนพื้นเมืองให้มีระบบอาหารที่มีความยั่งยืน ขณะที่ ผู้แทนจากสถาบันไมโครวิศวกรรมและนาโนอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซีย (IMEN) นำเสนอเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับฟาร์ม ด้วยการใช้เซ็นเซอร์อัจฉริยะในการทำสวนผลไม้ทุเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูก และด้านผู้แทนจากกระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ของญี่ปุ่น นำเสนอโครงการเกี่ยวกับมาตรการเพื่อบรรลุการลดการก๊าซคาร์บอนและสร้างความยืดหยุ่นด้วยการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความยั่งยืนของโลก เพื่อเป็นแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและสร้างความยืดหยุ่นด้วยการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความยั่งยืนของโลก
โอกาสนี้ สศก. เสนอและได้เน้นย้ำถึงทางเลือกในการนำระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ หรือ BCGs (Bio-Circular-Green) ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความท้าทายในมิติที่กระทบต่อความมั่นคงอาหาร โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพของการเกษตรและการผลิตอาหาร ซึ่งจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารให้มีความสมดุลทั้ง 3 มิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ความสำคัญกับจัดหาและถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยจัดการกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น และเสริมสร้างความมั่นคงอาหารของเอเปคให้เกิดความยั่งยืน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหาร เช่น จีนไทเป ออกนโยบายเฉพาะเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยและSMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น รวมถึงทำความตกลงกับธนาคารในการออกสินเชื่อเพื่อช่วยค้ำประกันที่ดิน จีน มุ่งเน้นการเกษตรอัจฉริยะเพื่อจูงใจเยาวชนให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงดิจิทัลในชนบท อินโดนีเซีย ออกโครงการสินเชื่อเพื่อการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย สตรี และเกษตรกรรุ่นใหม่ ในการเข้าถึงเงินทุนและให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เปรู ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรรายย่อย การเกษตรแบบครอบครัว ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือเกษตรอัจฉริยะ เพื่อดึงดูดเยาวชนคนรุ่นใหม่ มาเลเซีย จัดตั้งโครงการ Young Agropreneur ที่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอาหารเกษตรในท้องถิ่น
ทั้งนี้ นิวซีแลนด์จะนำผลลัพธ์ที่ได้การหารือและข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ไปกำหนดประเด็นสำคัญเพื่อพัฒนาเป็นแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 โดยจะมีการรับรองแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ต่อไป
*******************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์/ ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร