สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 24, 2021 13:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 มิถุนายน 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,736 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,903 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.54

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,447 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 8,533 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.01

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 23,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,630 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.47

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 734 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,106 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 766 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,712 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.18 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 606 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,072 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 474 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,673 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.70 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 601 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 451 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,198 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 474 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,673 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.85 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 475 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.4801 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนมิถุนายน 2564ผลผลิต 506.616 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 504.992 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2563/64 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.32 2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนมิถุนายน 2564 มีปริมาณผลผลิต 506.616 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.32 การใช้ในประเทศ 514.537 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.58 การส่งออก/นำเข้า 46.929 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.24 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 168.406 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2563/64 ร้อยละ 4.49 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา อียู ปากีสถาน ปารากวัย ไทย ตุรกี และอุรุกวัย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไอเวอรี่โคสต์ เอธิโอเปีย อียู กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาดากัสกา โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย เซเนกัล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล จีน อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกาใต้ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

ข้าวไทยขาลงโดนคู่แข่งขายแซงหน้าในตลาดมาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ ข้าวไทยเสียส่วนแบ่งตลาดในมาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน เมียนมา ขยับแซงหน้า เนื่องจากราคาแพงกว่าคู่แข่ง ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ราคาข้าวไทยพุ่งสูงและพันธุ์ข้าวไม่หลากหลาย

นายวรวรรณ วรรณวิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในมาเลเซียลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งมากประกอบกับ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข้าวไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยชาวมาเลเซียตัดสินใจซื้อจากราคาเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมาจากนโยบายของรัฐบาลมาเลเซียที่สนับสนุนปรับปรุงภาคการผลิต โดยเฉพาะข้าวด้วยการส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศในระดับที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม เพี่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร?แม้ข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวขาว ยังเป็นที่ยอมรับในมาเลเซีย ทั้งในด้านรสชาติ และคุณภาพ แต่การที่รัฐบาล ส่งเสริมให้เพิ่มการเพาะปลูกข้าวให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้ถึงร้อยละ 75 จนถึงระดับที่พึ่งพาตนเองได้ และลดการนำเข้า รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับเงินสกุลของคู่แข่ง และชาวมาเลเซียบางกลุ่มเชื่อว่า การบริโภคข้าวจะทำให้อ้วนจึงบริโภคลดลงนั้น อาจทำให้มาเลเซียนำเข้าข้าวจากไทยลดลงได้ในอนาคต?

นางสาวจันทนา โชติมุนี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ข้าวไทยในตลาดฟิลิปปินส์เสียส่วนแบ่งตลาดให้ข้าวจากคู่แข่งเช่นกัน โดยปี 64 ข้าวไทยอยู่อันดับ 2 ที่ 350,349 ตัน โดยเวียดนาม สามารถชิงส่วนแบ่งอันดับ 1 จากไทยได้ที่ 2.02 ล้านตัน อันดับ 3 เมียนมา 218,016 ตัน และจีน 12,722 ตัน

ขณะที่ปี 63 ข้าวไทยตกมาอยู่อันดับ 3 ที่ 67,733 ตัน แต่เวียดนามยังคงครองอันดับ 1 ที่ 1.79 ล้านตัน อันดับ 2 เมียนมา 158,074 ตัน และจีน 35,253 ตัน ส่วนช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 64 ไทยอยู่อันดับ 3 ที่ 26,977 ตัน อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นเวียดนาม และเมียนมา ที่ 545,416 ตัน และ 32,300 ตันตามลำดับ และจีน 5,919 ตัน โดยตั้งแต่ฟิลิปปินส์เปิดเสรีนำเข้าข้าวในปี 62 ไทยยังไม่สมารถช่วงชิงโอกาสในการขยายตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้ เพราะราคาข้าวไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ทำให้แข่งขันลำบาก และที่สำคัญ ตั้งแต่เดือนพ.ค.64 รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้ลดภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับสินค้าข้าว ระยะเวลา 1 ปี ทำให้ภาษีนำเข้าภายในโควตาลดจากร้อย 40 เหลือเพียงร้อยละ 35 และนอกโควตาลดจากร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 35 เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ยิ่งทำให้ข้าวไทยแข่งขันกับคู่แข่งนอกอาเซียน อย่าง อินเดีย ปากีสถาน และจีน ยากขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้ ภาษีเหลือร้อยละ 35 เท่ากับสมาชิกอาเซียนแต่ราคาถูกกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม แม้ข้าวไทยยังคงเป็นที่เชื่อมั่นใจเรื่องคุณภาพมาตรฐาน แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในด้านราคา และพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มที่เป็นที่นิยมบริโภคในปัจจุบันได้ ดังนั้น ไทยต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวในสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในราคาที่แข่งขันได้ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์กลับคืนมา

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เวียดนาม

สำนักงานศุลกากรเวียดนาม (Department of Customs) รายงานว่า การนำเข้าข้าวของเวียดนามในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศอินเดีย ซึ่งนับจนถึงช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เวียดนามนำเข้าข้าวจากอินเดียผ่านทางท่าเรือ Ho Chi Minh City ประมาณ 304,000 ตัน ประกอบด้วยข้าวหัก (100% broken rice) ประมาณ 112,000 ตัน ข้าวกล้องประมาณ 54,000 ตัน ข้าวกล้องสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ประมาณ 12,000 ตัน และข้าวขาว 5% ประมาณ 126,000 ตัน โดยราคาเฉลี่ยของข้าวขาว 5% อยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และราคาเฉลี่ยข้าวหักที่ประมาณ 280 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งราคาต่ำกว่าข้าวในประเทศ ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้อินเดียสามารถส่งออกข้าวมายังเวียดนามมากขึ้นนอกเหนือจากราคาข้าวที่ต่ำกว่าแล้วยังเป็นผลมาจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Free Trade Agreement; AIFTA) ซึ่งเวียดนามลดภาษีนำเข้าข้าว 5% และข้าวหัก 100% จากอินเดียลงเหลือ 0% อย่างไรก็ตาม สำนักงานศุลกากรเวียดนามตั้งข้อสังเกตว่า ได้มีการตรวจพบสัญญาณผิดปกติ รวมทั้งการละเมิดของผู้ส่งออกและผู้นำเข้าข้าวหลายกรณี ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตของบริษัท VRICE Co., Ltd. ที่ระบุว่า ข้าวที่นำเข้าจากอินเดียไม่ได้มีเฉพาะข้าวหักที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เท่านั้น แต่ได้มีการนำข้าวขาวที่นำเข้าจากอินเดียมาขัดสีใหม่และนำไปผสมกับข้าวขาวของเวียดนามก่อนที่จะส่งออกไปต่างประเทศ โดยระบุในเอกสารส่งออกว่าเป็นข้าวเวียดนามซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของข้าว เวียดนามในตลาดโลก และมีกระแสข่าวว่าผู้นำเข้าบางรายได้ระงับการนำเข้าข้าวจากเวียดนามบ้างแล้ว มีรายงานว่า สำนักงานศุลกากรเวียดนาม ได้เร่งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออก ข้าวเพื่อตรวจสอบความผิดปกติแล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการสอบถามไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า(the Ministry of Industry and Trade) เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งออกข้าวของเวียดนามและแจ้งเตือน เกี่ยวกับความผิดปกติในกรณีดังกล่าวแล้ว

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา รายงานว่า นาย Carlos G. Dominguez III รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมศุลกากรฟิลิปปินส์ (Bureau of Customs: BoC) ติดตามการนำเข้าสินค้าข้าวอย่างใกล้ชิดหลังจากรัฐบาลได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไป (MFN Tariff Rates) สำหรับสินค้าข้าว เนื่องจากเกรงว่า อาจจะประสบปัญหาการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากประเทศที่ได้ประโยชน์จากการปรับ ลดภาษีนำเข้าทั่วไปดังกล่าว เป็นการชั่วคราวลงเหลือร้อยละ 35

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาข้าวจากประเทศผู้ผลิตหลักในภูมิภาคอาเซียนปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นข้าวจาก เวียดนาม ไทย และเมียนมา จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงการนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นนอกอาเซียนที่มีการปรับลดภาษีนำเข้าลงและราคาข้าวยังมีราคาต่ำกว่าข้าวในอาเซียนแทน เช่น อินเดีย เป็นต้น

นาย Rey Leonard B. Guerrero หัวหน้ากรมศุลกากรกล่าวว่า กรมฯ กำลังตรวจสอบการประเมินราคาข้าวนำเข้าจากเวียดนาม เนื่องจากสินค้าข้าวนำเข้าจากเวียดนามที่มีการนำเข้าปริมาณมาก ถูกแจ้งหรือมีการสำแดงในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดทั่วไป จึงจำเป็นต้องทบทวนและตรวจสอบการชำระภาษีที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่าราคาข้าวนำเข้าเฉลี่ยซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวจากเวียดนาม อยู่ที่ 19,312 เปโซต่อเมตริกตัน ลดลงร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 22,119 เปโซต่อเมตริกตัน นอกจากนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคานำเข้าเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2564 และเดือนเมษายน 2564 ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 22,119 เปโซต่อเมตริกตัน และ 21,066 เปโซต่อเมตริกตัน ตามลำดับ

นอกจากนี้ข้อมูลการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวของกรมศุลกากรระบุว่าตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2564 สามารถจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวได้เป็นมูลค่า 5.67 พันล้านเปโซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่จัดเก็บภาษีได้5.46 พันล้านเปโซ แม้ว่าปริมาณการนำเข้าจะลดลงอยู่ที่ 804,360 ตัน จากปริมาณนำเข้า 885,645 ตัน ในช่วงเดียวกัน ของปีก่อน เนื่องจากการปรับปรุงระบบการประเมินราคานำเข้าในการชำระภาษีที่ดีขึ้น ทำให้สามารถการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ราคานำเข้าข้าวเฉลี่ย เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 อยู่ที่ 21,096 เปโซต่อเมตริกตัน เทียบกับ 18,508 เปโซต่อเมตริกตันในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมศุลกากรฟิลิปปินส์ในเดือนกันยายน 2563 ระบุว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้าเป็นมูลค่าถึง 1.42 พันล้านเปโซ เนื่องจากผู้นำเข้าหลายรายสำแดงราคาข้าวที่บิดเบือน หรือต่ำเกินจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสูง

นาย Raul Q. Montemayor ผู้จัดการของสมาพันธ์เกษตรกรอิสระแห่งชาติฟิลิปปินส์ (The Federation of Free Farmers: FFF) กล่าวว่า กรมศุลกากรมีการดำเนินการที่ช้ามากในการอุดช่องโหว่ในการประเมินราคานำเข้าและการจำแนกประเภทข้าวในการคำนวณภาษีนำเข้าข้าว โดยจนถึงขณะนี้กรมศุลกากรก็ยังไม่ได้ประกาศราคาอ้างอิง (Reference Price) สำหรับ Shipment ข้าวที่นำเข้าจากประเทศจีน และบางส่วนจาก อินเดีย ปากีสถาน รวมถึงเมียนมา ซึ่งหากไม่มีราคาอ้างอิง กรมศุลกากรจะไม่สามารถประเมินและระบุได้ว่า Shipment ใดที่มีการแจ้งราคาข้าวต่ำเกินไปหรือไม่

นอกจากนี้นาย Raul Q. Montemayor ระบุว่า ไม่เห็นเหตุผลที่เพียงพอว่าทำไมกระทรวงการคลังต้องออกคำสั่งพิเศษให้กรมศุลกากรเฝ้าระวังการนำเข้าข้าวเพียงเพราะเหตุผลที่อัตราภาษีนำเข้า MFN (นอกอาเซียน) ถูกกำหนดให้ลดลงอยู่ในระดับเดียวกับอัตราภาษีนำเข้าข้าวที่เรียกเก็บจากประเทศสมาชิกอาเซียน แต่เห็นว่าสิ่งที่กระทรวงการคลัง ควรดำเนินการคือ การให้ความสำคัญกับความเสี่ยงจากการประเมินราคาข้าวที่ต่ำเกินจริงและ การจำแนกประเภทข้าวที่ไม่ถูกต้องของผู้นำเข้า ซึ่งไม่ว่าอัตราภาษีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือคงเดิม ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่ผู้นำเข้าจะยังคงหลบเลี่ยงการชำระภาษีที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สมาพันธ์ FFF ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการออกคำสั่งปรับลดอัตราภาษีนำเข้า ข้าวทั่วไปเป็นการชั่วคราวดังกล่าว โดยรัฐบาลใช้ข้ออ้างถึงเกี่ยวกับการขาดแคลนอุปทานในประเทศ ในขณะที่อุปทานข้าวในประเทศมีเพียงพอในท้องตลาด ในทางกลับกัน สมาพันธ์ FFF เชื่อว่าการปรับลดภาษีนำเข้าข้าวลงจะไม่ส่งผลให้ราคาข้าวถึงผู้บริโภคลดลง แต่กลับจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือก (Palay) ตกต่ำลงจนส่งผลเสียต่อเกษตรกรชาวนาท้องถิ่น

ที่มา Oryza.com และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ