สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 19, 2021 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 12-18 กรกฎาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,383 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,519 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.29

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,665 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 8,447 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.58

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 22,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,450 บาท ในสัปดาห์ก่อน ร้อยละ 0.80

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 684 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,151 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 707 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,678 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.25 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 527 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,634 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,825 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.32 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 191 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,022 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,242 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.48 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 220 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3839 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เมียนมา

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวของเมียนมาในเดือนมิถุนายน 2564 มีแนวโน้มลดลงจากเดือนพฤษภาคม เนื่องจากยังคงมีการปิดจุดผ่านแดนระหว่างเมียนมาและจีน ประกอบกับความต้องการข้าวจากประเทศในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การหยุดชะงักของการทำธุรกรรม และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกข้าวในขณะนี้

สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา (ช่องทางปกติ ทางเรือ และการส่งออกทางชายแดน) มีปริมาณ 123,355 ตัน และ 165,000 ตัน ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วง 2 เดือนก่อนหน้า (กุมภาพันธ์และมีนาคม) เนื่องจากมีความต้องการข้าวจากประเทศบังคลาเทศ จีน และฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การอ่อนค่าลงของเงินจ๊าดเมียนมาอย่างต่อเนื่องและความต้องการข้าวเพื่อส่งออกที่สูงขึ้นจึงคาดว่าราคาขายส่งข้าวภายในประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ราคาขายส่งข้าวขาว Emata 25% ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 22,000-23,000 จ๊าดต่อน้ำหนัก 108 ปอนด์ (ประมาณ 273-285 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) เพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายนที่ประมาณ 20,500-21,700 จ๊าดต่อน้ำหนัก 108 ปอนด์ (ประมาณ 254-269 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) ขณะที่ข้าวคุณภาพสูงพันธุ์ Shwe Bo Pawsan ราคาขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 47,000-50,000 จ๊าดต่อน้ำหนัก 108 ปอนด์ (ประมาณ 583-621 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) เพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายนที่ประมาณ 45,000-48,500 จ๊าดต่อน้ำหนัก 108 ปอนด์ (ประมาณ 559-602 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน)

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

นาย Muhammad Lutfi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า (Trade Minister) กล่าวว่า อินโดนีเซียอาจจะไม่นำเข้าข้าวในปีนี้ แม้ว่าจะยังคงมีการระบาดของเชื้อ COVID-19 และรัฐบาลพยายามที่รักษาระดับราคาข้าวในประเทศให้มีเสถียรภาพก็ตาม เนื่องจากในขณะนี้ยังคงมีสต็อกข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ

หน่วยงาน BULOG รายงานว่า ปัจจุบันมีสต็อกข้าวประมาณ 1.39 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในประเทศและสำหรับใช้ตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ขณะที่รัฐบาลคาดว่าในปี 2021 นี้จะมีผลผลิตข้าวสารประมาณ33 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตร ประมงและป่าไม้ (the Ministry of Agriculture, Fisheries and Forests; MAFF) ประกาศเปิดประมูลนำเข้าข้าวครั้งแรกของปีงบประมาณ 2021/22 (1 เมษายน 2021-31 มีนาคม 2022) ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ซึ่งกำหนดจะซื้อข้าวจากไทยจำนวนรวม 9,460 ตัน ประกอบด้วยข้าวสารเมล็ดยาว (Nonglutinous long grain milled rice) จำนวน 7,200 ตัน โดยกำหนดส่งมอบวันที่ 1-30 กันยายน 2564 และข้าวสารเมล็ดยาว (Mochi long grain milled rice) จำนวน 2 ล็อต รวม 2,260 ตัน แบ่งเป็น 1,120 ตัน และ 1,140 ตันโดยกำหนดส่งมอบวันที่ 15 ตุลาคม 2564

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เกาหลีใต้

หน่วยงาน Korea Agri-Fisheries and Food Trade Corporation (KAFTC or aT) ประกาศเปิดการประมูลนำเข้าข้าวแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic bidding) ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 (เปิดรับลงทะเบียนการประมูลในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564) ซึ่งกำหนดจะซื้อข้าว (non-glutinous brown/milled rice) รวมทั้งหมด 91,216 ตัน โดยกำหนดส่งมอบวันที่ 31 ตุลาคม 2564-30 เมษายน 2565

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในระดับทรงตัว (ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020) ท่ามกลางภาวะที่ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลง และอุปทานข้าวในตลาดมีมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลระบายข้าวออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศ โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาอยู่ที่ 367-371 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับเมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวของอินเดียยังคงต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่นค่อนข้างมาก

บรรดาผู้ส่งออกข้าวของอินเดียต่างคาดหมายกันว่า ในปีนี้จะมีการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าจากปีที่แล้ว เพราะคาดว่าตลาดจีนมีความต้องการข้าวเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเส้น และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยคาดว่าในปีงบประมาณ 2021/22 จีนจะนำเข้าข้าวจากอินเดียประมาณ 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 300,000 ตัน ในปี 2020/21

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกข้าวอินเดียได้เสนอราคาขายข้าวหักให้แก่ผู้นำเข้าของจีนที่ราคาประมาณ 300-350 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาดโลกที่ระดับราคาประมาณ 390-400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำสัญญาขายข้าวให้แก่จีน

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ