สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 23, 2021 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 16 - 22 สิงหาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,854 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,941 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.88

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,513 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 7,396 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.58

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 22,250 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 22,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,930 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 11,775 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.32

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 658 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,767 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 653 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,621 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.77 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 146 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 405 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,397 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,111 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.27 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 286 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,497 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,211 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.26 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 286 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.0799 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนสิงหาคม 2564ผลผลิต 507.449 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 505.809 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2563/64 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.32 2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนสิงหาคม 2564 มีปริมาณผลผลิต 507.449 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.32 การใช้ในประเทศ 514.253 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.51 การส่งออก/นำเข้า 47.659 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.36 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 170.143 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2563/64 ร้อยละ 3.85 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล เมียนมา กัมพูชา จีน อียู ปากีสถาน ปารากวัย ไทย ตุรกี อุรุกวัย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไอเวอรี่โคสต์ เอธิโอเปีย อียู กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาดากัสกา โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย เซเนกัล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล จีน ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกาใต้ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเปลือกภายในประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะมี มาตรการจัดซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อกไว้ชั่วคราว และช่วยพยุงราคาข้าวเปลือกไม่ให้ตกต่ำ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่ผลผลิตข้าวเปลือกฤดูใหม่กำลังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ทำให้รัฐบาลวางแผนที่จะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเก็บสต็อกไว้ชั่วคราวเพื่อพยุงราคาข้าว โดยทางการคาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกจากฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (summer-autumn crop) ในปีนี้จะมีจำนวนประมาณ 9.04 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 1.35

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ธนาคารกลางของเวียดนาม (Vietnam's Central Bank / the State Bank of Vietnam) ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ในท้องถิ่นเพิ่มวงเงินสินเชื่อสำหรับผู้ค้าข้าว เพื่อช่วยในการรับซื้อข้าวเปลือกและเก็บสต็อกข้าวไว้ท่ามกลางภาวะที่อุปทานข้าวในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกำลังเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การค้าข้าวชะลอลงจากมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าและการติดต่อซื้อขายถูกจำกัด

นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ในท้องถิ่นดำเนินมาตรการสนับสนุนสำหรับผู้ค้าข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และข้อจำกัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาตรการดังกล่าวรวมถึงการกำหนดเวลาการชำระเงินกู้ใหม่ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียม

ที่มา : Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

นาย Veng Sakhon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง (Minister of Agriculture, Forestry and Fisheries) ได้เรียกร้องให้เกษตรกรทั่วประเทศเพิ่มการปลูกข้าวหอม (fragrant rice) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ โดยในปัจจุบันข้าวหอมมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชา โดยข้าวหอมคิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 56.6 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดในปี 2016 โดยที่การส่งออกข้าวหอม Phkar Romduol คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ซึ่งเป็น สิ่งบ่งชี้ว่าข้าวหอมกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นาย Veng Sakhon ยอมรับว่า ในส่วนของข้าวหอมเมล็ดยาว Sen Kra Ob ของกัมพูชาสามารถปลูกได้เพียงปีละครั้งในฤดูฝน ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดทางศักยภาพทางการตลาด

ทั้งนี้ ในปี 2013 นาย Veng Sakhon ได้แนะนำให้สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งกัมพูชา (the Agricultural Research and Development Institute of Cambodia; CARDI) เริ่มพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมที่ไม่ไวต่อช่วงแสง (non-seasonal fragrant rice types) หรือข้าวนาปรัง โดยการสร้างลูกผสมระหว่างข้าวหอม Phkar Romduol และข้าวหอมจากประเทศจีน โดยส่วนหนึ่งของการทดลองครั้งนี้ เกษตรกรได้คัดเลือกข้าวหอม 100 สายพันธุ์เพื่อปลูกในฤดูแล้งและฤดูฝน ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ของข้าวหอม เพื่อคอยติดตามผลการเพาะปลูกว่าข้าวพันธุ์นั้นเป็นอย่างไร

นาย Veng Sakhon ระบุว่า ในปี 2017 ได้มีความร่วมมือของรัฐบาลออสเตรเลียผ่านโครงการห่วงโซ่คุณค่า ทางการเกษตรของกัมพูชา (the Cambodia Agricultural Value Chain Programme ? CARDI) โดยได้ขยายการ ทดลองวิจัยในด้านการเกษตรต่างๆ ในจังหวัดPrey Veng, Siem Reap และ Battambang ซึ่งผลที่ได้คือข้าวพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพดี 3 สายพันธุ์ โดยได้รับการคัดเลือกสำหรับการทดลองในนาข้าวของเกษตรกร 40 แห่งในจังหวัด Prey Veng

ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนของปีนี้ในแปลงนาข้าวของเกษตรกร 40 แห่ง ในจังหวัด Prey Veng จะมีการทดลองปลูกข้าว และจะมีการทดลองปลูกอีก 25 แปลง ที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งกัมพูชา และการทดลองปลูกในอีก 15 แปลง ดำเนินการโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (the Cambodian Rice Federation) ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากการเพาะปลูกจะนำไปวิเคราะห์จากนั้นจึงจะส่งเสริมให้เกษตรกรกัมพูชาเพาะปลูกต่อไป

นาย Lor Bunna ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งกัมพูชา ระบุว่า ในปี 2019 สถาบันฯได้จัดหาพันธุ์ข้าวที่เรียกว่า Sen Kra Ob 01 (SKO-01) ให้กับเกษตรกรเพาะปลูก ซึ่งในปัจจุบันข้าวพันธุ์ SKO-01 ถูกกระจายไปเพาะปลูกทั่วประเทศ โดยข้าวพันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูง มีกลิ่นหอม และให้ข้าวสารคุณภาพดีมี เมล็ดยาว และเป็นข้าวนุ่มรสชาติอร่อย

นาย Lor Bunna กล่าวว่า SKO-01 เป็นข้าวพันธุ์อายุสั้นที่ออกใหม่ ซึ่งสามารถปลูกได้ทุกช่วงเวลาและมีระยะเก็บเกี่ยว 100-115 วัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 640-800 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ข้าวชนิดนี้มีความทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชน้อย โดยเฉพาะหนอนเจาะลำต้น (stem borers and palm weeds) ซึ่งหมายความว่าต้องมีการดูแลและฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเพิ่มเติมเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

ที่มา : Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

เว็บไซต์ Business Mirror รายงานว่า การค้าข้าวทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์และข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของ Covid-19 ด้วยเหตุนี้สำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (the Philippines National Economic and Development Authority; NEDA) จึงมีความกังวลว่า การนำเข้าข้าวของประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเดินเรือกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การนำเข้าจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศเวียดนามกำลังดำเนินไปอย่างล่าช้า โดยระบบโลจิสติกส์และการดำเนินงานที่ท่าเรือของเวียดนามได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของ Covid-19 ที่รุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมข้าวระบุว่า ฟิลิปปินส์ไม่น่าจะได้รับความเสียหายร้ายแรงใดๆ เนื่องจากปัญหาด้านโลจิสติกส์ของเวียดนาม โดยตั้งข้อสังเกตว่าการผลิตข้าวของประเทศฟิลิปปินส์คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ฟิลิปปินส์ผลิตข้าวได้ประมาณ 8.8 ล้านตัน และรัฐบาลก็คาดหวังว่าฟิลิปปินส์จะบรรลุเป้าหมายผลผลิตข้าวที่ 20.4 ล้านตัน

ที่มา : Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

นาย Muhammad Lutfi รัฐมนตรีกระทรวงการค้า (Indonesia's Trade Minister) กล่าวว่า อินโดนีเซียยังไม่มีแผนที่จะนำเข้าข้าวในปีนี้ เพราะยังคงมีสต็อกข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และรัฐบาลสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่จะรักษาระดับสต็อกข้าวและราคาข้าวให้มีเสถียรภาพแล้ว

ทั้งนี้ หน่วยงาน Bulog (Indonesia's National Logistics Agency) รายงานว่า ขณะนี้มีสต็อกข้าว ประมาณ 1.39 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศได้อย่างน้อย 12 เดือน นอกจากนี้ ยังคาดว่าในปีนี้อินโดนีเซียจะมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะมีประมาณ 33 ล้านตันข้าวสาร

ขณะที่สำนักข่าว Reuters รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าผลผลิตข้าวเปลือก (unhusked rice) ในปี 2022 ไว้ที่ 57.5 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้สำหรับปีนี้ที่ 55.8 ล้านตัน

ทางด้านประธานาธิบดีJoko Widodo (Jokowi) ส่งสัญญาณว่าการส่งออกข้าวสามารถทำได้ในกรณีที่มีผลผลิตข้าวในประเทศอย่างเพียงพอแล้ว ซึ่งหากปริมาณสต๊อกข้าวกับความต้องการบริโภคภายในประเทศมีส่วนที่เกินดุลก็สามารถนำไปส่งออกได้

ก่อนกน้านี้ กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า อินโดนีเซียได้เริ่มส่งออกข้าวบางส่วนไปยังประทศซาอุดิอาระเบียแล้ว หลังจากที่ได้มีการคำนวณความต้องการบริโภคและสต็อกที่มีอยู่ ซึ่งพบว่ายังเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการในประเทศ โดยรัฐบาลจะคำนึงถึงความต้องการภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกก่อนที่จะอนุญาตให้นำสต็อกข้าวส่วนเกินส่งออกไปต่างประเทศได้

ที่มา : Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในระดับทรงตัว (ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง) ท่ามกลางความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่ลดลง และติดปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์ โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาทรงตัวอยู่ที่ระดับ 354-358 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวของอินเดียยังคงต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่นมาก The Economic Times รายงานว่าการส่งออกข้าวของอินเดียในปีงบประมาณ 2021/22 (เมษายน 2021-มีนาคม 2022) คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปีงบประมาณก่อนหน้า เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่อุปทานข้าวมีปริมาณล้นตลาดโลก ประกอบกับความนิยมข้าวไทยที่เหนือข้าวอินเดียจะกลับมาอีกครั้ง นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวอินเดีย (the president of the Rice Exporters Association) ระบุว่า อัตราค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เป็น 120-130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าเวียดนามได้หยุดซื้อข้าวจากอินเดียเนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูใหม่และมีการซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ที่แม้ว่าจะลดภาษีนำเข้าข้าวของอินเดียจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 35 โดยมีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้อินเดียยังไม่ได้มีการส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์

ที่มา : Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ