สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 16, 2021 14:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 9 - 15 สิงหาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,941 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,005 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.64

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,396 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,628 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.04

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 22,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 22,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,775 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 11,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.21

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 653 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,621 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 659 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,631 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 10 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,111 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,130 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.00 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,211 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,228 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 17 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.1098 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

บังคลาเทศ

รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะนำเข้าข้าวนึ่งจากอินเดียอีก 50,000 ตัน ซึ่งหน่วยงานด้านอาหาร (The Directorate General of Food) ระบุว่า ได้ยื่นเรื่องเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแล้ว โดยมีรายงานล่าสุดว่าคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดซื้อของรัฐบาล (The Cabinet Committee on Government Purchase; CCGP) ได้อนุมัติข้อเสนอในการจัดหาข้าวนึ่งที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ จำนวน 50,000 ตันแล้ว โดยเป็นข้าวนึ่งที่เสนอโดยบริษัท M/S Bagadiya Brothers Private Limited ของอินเดีย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 18.887 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มีรายงานว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะลดภาษีนำเข้าข้าว (import duty on rice) เพื่อพยายามควบคุมราคา วัตถุดิบในตลาดท้องถิ่น ตามข้อเสนอของกระทรวงอาหาร (the ministry of food)

ทั้งนี้ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการรายได้แห่งชาติ (the National Board of Revenue; NBR) จะมีการลดภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือร้อยละ 15 จากเดิมร้อยละ 25 โดยแหล่งข่าวกล่าวว่าอัตราภาษีที่ลดลงกำหนดไว้สำหรับ

การนำเข้าข้าวซึ่งอาจใช้ได้จนถึงเดือนตุลาคมนี้ โดยคณะกรรมการรายได้แห่งชาติจะออกคำสั่งกำกับดูแลตามกฎหมาย (statutory regulatory order; SRO) เกี่ยวกับการลดภาษีในเร็วๆ นี้

รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะสนับสนุนให้ผู้ค้าข้าวมีการนำเข้าข้าวมากขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาข้าวในตลาด ภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไปสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเมื่อเดือนธันวาคมปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับลดภาษีนำเข้าข้าวนึ่งเหลือร้อยละ 25 จากร้อยละ 62.5 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีสินค้าข้าวในตลาดภายในประเทศในระดับราคายุติธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป

ตามรายงานของบรรษัทการค้าของบังคลาเทศ (Trading Corporation of Bangladesh;TCB) ราคาข้าวเกรดธรรมดาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37 ในช่วงเวลาหนึ่งปี โดยในปัจจุบันข้าวเกรดธรรมดาและขนาดคุณภาพปานกลาง(Coarse and medium varieties of rice) มีราคาขายปลีก (the retail level) ที่ประมาณ 50-60 ทากาต่อกิโลกรัม (0.59-0.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม) ขณะที่ข้าวคุณภาพดี (Finer varieties of rice) ราคาขายปลีกอยู่ที่ประมาณ65-78 ทากาต่อกิโลกรัม (0.77-0.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม) โดยในแต่ละปีบังคลาเทศมีความต้องการบริโภคข้าวประมาณ 34 ล้านตัน

ที่มา: Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อิรัก

แหล่งข่าวในวงการค้ารายงานว่ารัฐบาลอิรักได้ซื้อข้าวจากบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ และไทย จำนวน 160,000 ตัน เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท S&P Global Platts รายงานโดยอ้างข้อมูลของบริษัท Al-Owais (Iraqi private company, AlOwais) ว่า หลังจากที่กระทรวงการค้าอิรัก (the Iraqi Ministry of Trade) ได้โอนย้ายความรับผิดชอบในการจัดหาข้าวไปให้ภาคเอกชนจัดหาข้าวแทนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน 2564 บริษัท Al-Owais ได้ซื้อข้าวจากประเทศอุรุกวัย จำนวน 60,000 ตัน ในราคาประมาณ 560 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน FOB ซึ่งผู้ส่งออกรายใหญ่ของอุรุกวัยระบุว่า ได้มีการส่งมอบข้าวจำนวน 30,000 ตัน โดยเรือบรรทุกสินค้า 2 ลำ ซึ่งได้ออกจากท่าเรือมอนเตวิเดโอ (Montevideo Port) ไปยังประเทศอิรักแล้ว

เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding; MOU) ของสองประเทศ ระหว่างบริษัท Al-Owais ของอิรัก และสหพันธ์ข้าวแห่งสหรัฐอเมริกา(the USA Rice Federation) และหลังจากนั้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ได้มีการตกลงซื้อข้าวขาวจากบริษัท ADM (รัฐ Arkansas) จำนวน 80,000 ตัน (white rice in bulk) และจากบริษัท Supreme Rice (รัฐ Louisiana) จำนวน 40,000 ตัน (white rice in bags)

แหล่งข่าวในวงการค้ายืนยันว่าได้เริ่มมีการสั่งผลิตในรัฐ Arkansas แล้ว โดยคำสั่งซื้อทั้งสองมีกำหนดจะส่งมอบไปยังท่าเรือ Umm Qasr Port ประเทศอิรักในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ โดยบริษัทค้าข้าวแห่งหนึ่ง รายงานราคาขายในประเทศ (the domestic sale price) ที่ประมาณ 540 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน CIF NOLA อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับ L/C (Letters of Credit) แม้ว่าจะมีการตกลงกันในหลักการแล้วเมื่อหนึ่งถึงสองสัปดาห์ก่อน

นอกจากอิรักจะซื้อข้าวจากสหรัฐฯ แล้ว มีรายงานว่า บริษัท Al-Owais ยังได้ซื้อข้าวขาวจากประเทศไทย (Thai white rice) จำนวน 40,000 ตัน โดยผ่านบริษัท ADM ของสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งหากการดำเนินการในครั้งนี้สำเร็จด้วยดีจะถือเป็นการส่งมอบข้าวไทยครั้งแรกให้กับรัฐบาลอิรักในรอบหลายปีที่ผ่านมา

การตกลงซื้อข้าวจำนวนรวม 220,000 ตัน จากทั้ง 3 แหล่ง (อุรุกวัย จำนวน 60,000 ตัน สหรัฐฯ จำนวน 120,000 ตัน และไทย จำนวน 40,000 ตัน) ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนครึ่ง ในครั้งนี้ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างน่าทึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ได้มีการซื้อข้าวของปากีสถานและอุรุกวัย จำนวนรวม 120,000 ตัน จากการประมูลที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการค้าของอิรัก (the Ministry of Trade)

ทั้งนี้ ในการประมูลนำเข้าข้าวจากทุกประเทศ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา กระทรวงการค้าของอิรักซื้อข้าวจากข้าวปากีสถาน จำนวน 60,000 ตัน ราคา 582.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (CIF Umm Qasr Free Out) โดยในการยื่นเสนอราคาครั้งแรกข้าวปากีสถานเสนอราคาที่ 595 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (c&f liner out) จำนวน 30,000 ตัน (ซึ่งการประมูลในครั้งนั้นข้าวไทยเสนอราคาที่ 569.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (c&f liner out) จำนวน 40,000 ตัน)ส่วนการประมูลครั้งแรกของปี 2021 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์2021 กระทรวงการค้าของอิรักซื้อข้าวจาก อุรุกวัย จำนวน 60,000 ตัน จากบริษัท Hanalico ที่ราคา 672 เหรียญสหรัฐต่อตัน (c&f liner out) Umm Qasr

ทั้งนี้ รัฐบาลอิรักไม่ได้จัดการประมูลข้าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 เนื่องจากในปี 2020 เกิดภาวะราคาน้ำมันตกต่ำทำให้ขาดแคลนงบประมาณและไม่สามารถจัดหาข้าวได้

ที่มา: Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

สหรัฐอเมริกา

สหพันธ์ข้าวแห่งสหรัฐอเมริกา (the USA Rice Federation) รายงานว่า หลังจากที่เว้นว่างมาสองปี ข้าวของสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ตลาดอิรักได้อีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่อิรักได้ตกลงซื้อข้าวจากบริษัท ADM จำนวน 80,000 ตัน และจากบริษัท Supreme Rice จำนวน 40,000 ตัน

การซื้อขายในครั้งนี้ถือเป็นการขายข้าวครั้งแรกในรอบสองปีของสหรัฐฯ ให้กับประเทศอิรัก โดยการตกลงซื้อขายเกิดขึ้นหลังจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding; MOU) ของทั้งสองประเทศเมื่อไม่นานนี้ โดยอิรักตกลงที่จะซื้อข้าวของสหรัฐฯ จำนวน 200,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าจะมีการส่งมอบไปยังท่าเรือ Umm Qasr Port ของอิรักในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ครั้งก่อน ทำให้สหรัฐฯ ขายข้าวให้แก่ประเทศอิรักได้จำนวน 350,000 ตัน มูลค่าประมาณ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมข้าวของสหรัฐฯ ระบุว่า อิรักถือเป็นตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับข้าวเมล็ดยาวของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยหลายประการซึ่งรวมถึงการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ทั่วโลก ที่ทำให้อิรักต้องหยุดซื้อข้าวจากสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ในปี 2020 ที่ผ่านมาไม่มีการตกลงซื้อขายระหว่างกัน

นาย John Boozman วุฒิสมาชิกในคณะกรรมการวุฒิสภาด้านการเกษตร โภชนาการ และป่าไม้ (U.S. Senator John Boozman (R-AR), the Senate Committee on Agriculture, Nutrition, and Forestry) กล่าวว่า การตกลงซื้อขายในครั้งนี้นับเป็นเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตข้าวของสหรัฐฯ เนื่องจากการตกลงซื้อขายในครั้งนี้ถือเป็นกรณีที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (win-win) ทั้งผู้บริโภคของอิรัก และเกษตรกรของสหรัฐฯ

ที่มา: Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ