สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 30, 2021 15:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 23 - 29 สิงหาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,815 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,854 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,545 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 7,513 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 22,550 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 22,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.35

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,930 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน 3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 695 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,726 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 658 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,767 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.62 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 959 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,374 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 405 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,397 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 23 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,472 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,497 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.98 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 25 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.6996 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ราคาข้าวปรับตัวลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากอุปทานข้าวในประเทศเพิ่ม มากขึ้นจากการที่เกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (summer-autumn crop) ขณะที่การค้าชะลอลงเนื่องจากความต้องการข้าวจากต่างประเทศน้อยลง ประกอบกับผู้ส่งออกบางส่วนลังเลที่จะทำสัญญาขายข้าวในช่วงนี้ เพราะยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถซื้อข้าวและดำเนินการส่งมอบให้ผู้ซื้อได้หรือไม่ในช่วงที่ยังคงมีมาตรการล็อกดาวน์อยู่วงการค้า ระบุว่า นอกจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านโลจิสติกส์ในประเทศแล้ว การส่งออกในช่วงนี้ยังมีปัญหาจากต้นทุนค่าขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของเวียดนาม (Vietnam's Agriculture Minister) เปิดเผยว่า เวียดนามจะพิจารณาลดพื้นที่ปลูกข้าวลง และหันไปปลูกพืชผลอื่นที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า หากราคาข้าวยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเวียดนามกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการขายข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวหลังจากบรรดาผู้รับซื้อไม่สามารถเข้ามาซื้อได้เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทางการมีการควบคุมการเดินทาง

กรมการผลผลิตพืช รายงานว่า ในฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn crop) คาดว่า จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 8.6 ล้านตัน จากพื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 9.375 ล้านไร่

ที่มา : Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ปากีสถาน

นาย Badar uz Zaman ที่ปรึกษาการค้าของสถานทูตปากีสถานในประเทศจีน (Commercial Counselor of Pakistan Embassy in China) กล่าวว่า ในระยะเวลาอีก 2 ปี ปากีสถานจะสามารถส่งออกข้าวไปยังตลาดจีนได้มากถึง 1 ล้านตัน เนื่องจากตลาดจีนมีความต้องการข้าวจากปากีสถานมากขึ้น โดยเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ปากีสถานสามารถส่งออกข้าวไปยังตลาดจีนได้มากถึง 475,000 ตัน ทำให้ปากีสถานเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 3 ที่ส่งข้าวไปประเทศจีน ขณะที่เมียนมา ส่งออกไปยังจีนจำนวน 911,231 ตัน เวียดนาม 787,538 ตัน ไทย 324,642 ตัน เป็นต้น

ในปี 2020 จีนมีความต้องการข้าวหักมากขึ้น โดยปากีสถานส่งออกข้าวหักไปจีนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 59 ขณะที่ในกลุ่มของข้าวสาร (while semi/wholly milled rice) ก็มีการส่งออกข้าวขาวพันธุ์ IRRI-6 และ IRRI-9 ไปยังประเทศจีนมากขึ้นเช่นกัน โดยในขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวปากีสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานของทางการจีน (the General Administration of Customs P.R. China) มีจำนวน 53 ราย

ทางด้าน ดร.Amjad Abbas Khan Magsi ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปัญจาบ (Punjab University) ประเทศปากีสถาน กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกของข้าวลูกผสม (hybrid rice) ในปากีสถานเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากประเทศจีน และข้าวลูกผสมพันธุ์ใหม่กำลังได้รับการพัฒนาในรัฐปัญจาบและส่วนอื่นของปากีสถานซึ่งจะให้ผลผลิตสูงและมีต้นทุนการผลิตต่ำ

ผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าวกล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปากีสถานมีการลงทุนอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมข้าวเนื่องจากมีความนิยมข้าวลูกผสมมากขึ้น และได้มีการนำเข้าเครื่องคัดแยกสีเมล็ดข้าว (color sorter machines) จากจีนจำนวนมากเพื่อให้ได้ข้าวตามมาตรฐานของจีน

ที่มา : Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงธากา รายงานว่า กรมสรรพากรของบังกลาเทศได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ปรับลดหย่อนภาษีนำเข้าข้าวจากอัตราร้อยละ 62.5 ลงเหลือร้อยละ 25.75 เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าข้าวให้ผู้นำเข้าเอกชนสามารถนำเข้าข้าวมาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาจำหน่ายปลีกในตลาดของบังกลาเทศที่ตึงตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ขณะที่การจัดซื้อข้าวจากชาวนาและโรงสีของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราภาษีที่ลดหย่อนในครั้งนี้ กำหนดสิ้นสุดภายในเดือนตุลาคม 2564 และปริมาณข้าวนำเข้าภายใต้มาตรการนี้ กำหนดไว้จำนวนประมาณ 1 ล้านตัน

ทั้งนี้ รัฐบาลบังกลาเทศได้ผลักดันมาตรการนี้ออกมาเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนนำเข้าข้าวมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในท้องตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวสารจำหน่ายปลีกและส่งในบังกลาเทศที่เพิ่มขึ้นสูงร้อยละ 4.3 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการกักตุนข้าวของโรงสีและผู้ค้ารายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศประกอบกับราคาข้าวในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของการจัดซื้อธัญพืชของรัฐบาลบังกลาเทศ ในปีงบประมาณ 2564-65 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสำหรับการนำเข้าธัญพืชไว้จำนวน 0.9 ล้านตัน (ข้าวจำนวน 0.3 ล้านตันและข้าวสาลีจำนวน 0.6 ล้านตัน) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลบังกลาเทศนิยมนำเข้าธัญพืชจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีราคาถูกเมื่อเทียบกับแหล่งอื่น มีความสะดวกในการขนถ่ายและส่งมอบที่ดำเนินการได้รวดเร็ว

ทางด้านกระทรวงการอาหาร (The Ministry of Food) รายงานว่า นับจนถึงขณะนี้ (วันที่ 18 สิงหาคม 2564) ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนจำนวน 71 ราย สามารถนำเข้าข้าวได้แล้วจำนวนประมาณ 400,000 ตัน ประกอบด้วยข้าวนึ่ง (boiled non-basmati rice) ประมาณ 362,000 ตัน และข้าวขาวประมาณ 56,000 ตัน (Aatop rice)

กระทรวงอาหารฯ ระบุว่า เงื่อนไขการนำเข้าข้าวระบุว่าจะต้องเปิด LC ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้การจัดสรร และข้อมูลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเอกสาร Bill of Entry จะต้องส่งให้กระทรวงฯ ทางอีเมล์ในทันที ซึ่งหากผู้ค้าไม่สามารถเปิด LC ภายในวันที่กำหนดการจัดสรรนั้นจะถูกยกเลิก

นอกจากนี้ ผู้ค้าต้องนำข้าวที่นำเข้าทั้งหมดออกสู่ตลาดทั่วประเทศภายในวันที่ 25 กันยายน 2564 และจะไม่สามารถออกใบอนุญาตนำเข้าเพิ่มเติมได้และกำหนดว่าข้าวที่นำเข้าจะต้องเป็นข้าวขาว 5% และต้องบรรจุในกระสอบพลาสติก โดยจะไม่สามารถทำการบรรจุใหม่ในนามของเจ้าของได้

ทางด้านสถานการณ์ราคาข้าวในขณะนี้ ได้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยข้าว Sharna มีราคาขายที่ 50-52 ทากาต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับ 48 ทากาต่อกิโลกรัม ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ข้าว BR-28 มี ราคาขาย 50-52 ทากาต่อกิโลกรัม ในเดือนกรกฎาคม ได้เพิ่มขึ้นเป็น 54-55 ทากาต่อกิโลกรัม

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงธากา และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ