นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาแนวทางบริหารจัดการสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด (พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน) ภายใต้โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ซึ่งพบว่า ?สมุนไพร? เป็นสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพืชที่มีอายุสั้น ใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อย ประกอบกับมีแหล่งรับซื้อในพื้นที่ ตลาดมีความต้องการผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ ได้แก่ เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว และญี่ปุ่น
จากผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการเพาะปลูกสมุนไพรหลากหลายชนิด ซึ่งสมุนไพรที่น่าสนใจและสามารถสร้างกำไรให้เกษตรกร คือ ลูกยอ ดอกอัญชัน ตะไคร้ใบ และขมิ้นชัน โดยแหล่งผลิตกระจายอยู่ในพื้นที่ ทั้ง 6 จังหวัด พบมากที่สุดในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดตาก เกษตรกรมีการปลูกแบบรายเดียวและรวมกลุ่มผลิต ลักษณะการปลูกแบบสวนเกษตรผสมผสาน มีเนื้อที่ปลูกไม่เกิน 1 ไร่/ครัวเรือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญผลผลิตส่วนใหญ่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบแปรรูปผลิตภัณฑ์ ส่งจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่รับบริการด้วยการแพทย์ผสมผสาน นอกจากนี้ ยังจำหน่ายผ่านบริษัท ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าทั่วไป รวมไปถึงการส่งออกตลาดต่างประเทศ
หากจำแนกต้นทุนการผลิตและผลตอบแทน ของสินค้าสมุนไพร ทั้ง 4 ชนิด พบว่า ลูกยอ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 40,781 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 33,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาขาย 7 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนเฉลี่ย 231,000 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 190,219 บาท/ไร่/ปี ดอกอัญชัน ต้นทุนการผลิต 48,805 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 904 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาขาย 252.50 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนเฉลี่ย 228,260 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 179,455 บาท/ไร่/ปี ตะไคร้ใบ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 25,759 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 25,585 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาขาย 2.23 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนเฉลี่ย 57,054 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 31,295 บาท/ไร่ ขมิ้นชัน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 35,196 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 3,700 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาขาย 13 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนเฉลี่ย 48,100 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 12,904 บาท/ไร่
ด้านสถานการณ์การตลาดของสมุนไพร ทั้ง 4 ชนิด พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ส่วนอีกร้อยละ 10 จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรับซื้อในท้องถิ่น โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการจะนำผลผลิตไปแปรรูปเบื้องต้น ก่อนส่งขายต่อไปยังผู้รับซื้อตลาดปลายทางเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ยารักษาโรค น้ำมันหอมระเหย เครื่องเทศ ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม และเครื่องดื่ม วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Top Supermarket รวมถึงจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ อาทิ Facebook Lazada Shopee
ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปริมาณผลผลิตพืชสมุนไพรหลายชนิดยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประกอบกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและเลือกทานอาหารที่มีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการควรศึกษาข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญ เรื่องคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ตลอดจนภาครัฐต้องขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาพืชสมุนไพรด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างจริงจังโดยเฉพาะการส่งเสริมให้สมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพสำหรับปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มและอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ สศท.2 จะมีการจัด focus group เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ภายในเดือนกันยายน 2564 และจะได้นำข้อคิดเห็นจากการประชุมไปพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป สำหรับผลการศึกษาดังกล่าว สามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนงานโครงการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเพื่อยกระดับพืชสมุนไพรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถขยายตลาดส่งออกให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจในระยะยาว หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2658 หรือ อีเมล์ zone2@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร