นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขต เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม
การประชุมรัฐมนตรี ความมั่นคงอาหารเอเปค มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการประชุมปีนี้ มีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ มีการรับรองแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสาระสำคัญของแถลงการณ์ฯ ได้กล่าวถึง ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการ แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อความเป็นอยู่ที่ดีและความปลอดภัยของประชาชนทุกคนในภูมิภาคเอเปค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคงอาหารและห่วงโซ่อุปทาน และวางแนวทางในการตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพโลกอย่างทันทีและต่อสภาวะเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมรับรองแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปค มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ที่มุ่งสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจใน 3 มิติ คือ 1) การค้าและการลงทุน 2) นวัตกรรมและการแปลงเป็นดิจิทัล และ 3) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง
โอกาสเดียวกันนี้ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายความมั่นคงอาหารของไทย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารในบริบทของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยไทยให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหาร การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยขับเคลื่อนการดำเนินนโยบาย 3S ได้แก่ ความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืน รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเกษตร อีกทั้งยังมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการผลิตสินค้าเกษตร และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิด BCG จะช่วยพัฒนาภาคเกษตรใน 3 ด้าน คือ ประสิทธิภาพสูง คุณภาพและมาตรฐานสูง และเกษตรกรมีรายได้สูง ที่เกิดจากการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร ตามแนวคิด ทำน้อยได้มาก
ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคความมั่นคงอาหาร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการจัดทำปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืนในเอเปค รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมต่อไป
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร