สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 13, 2021 15:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 6 - 12 กันยายน 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,785 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,898 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.14

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,471 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 7,456 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 24,450 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 23,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.95

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,730 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 713 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,077 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 721 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,188 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.11 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 111 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 404 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,076 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,122 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.98 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 46 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 407 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,173 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,218 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 45 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3663 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวส่วนใหญ่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากอุปทานข้าวในประเทศเพิ่มมากขึ้นจากการที่เกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงกำลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (summer-autumn crop) ขณะที่ภาวะการค้าชะลอตัวลงเนื่องจากผู้ส่งออกได้ชะลอการรับมอบสินค้าจากผู้ค้าข้าวในประเทศในช่วงที่ยังคงมีมาตรการล็อคดาวน์อยู่ ซึ่งทำให้การเดินทาง การขนส่งสินค้า รวมทั้งการติดต่อทางการค้าถูกจำกัด โดยข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับเมื่อสัปดาห์ก่อน

วงการค้าระบุว่า นอกจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านโลจิสติกส์ในประเทศแล้ว การส่งออกในช่วงนี้ยังมีปัญหาจากต้นทุนค่าขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เมียนมา

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา (Myanmar's Ministry of Commerce) ได้เสนอให้กำหนดราคาขั้นต่ำของข้าวเปลือก (the floor price for unhusked rice (paddy)) สำหรับฤดูการผลิต 2021/22 (ข้าวนาปีและนาปรัง) ไว้ที่ 560,000 จ๊าดต่อตัน หรือประมาณ 337 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หลังจากที่มีการประชุมของคณะทำงานเรื่องดังกล่าว

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยราคาที่เสนอในครั้งนี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับราคา 520,000 จ๊าดต่อตัน หรือประมาณ 312.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในปีการผลิต 2020/21 ที่ผ่านมา

ทางด้านเกษตรกรได้ให้ข้อมูลว่า การปรับขึ้นของราคาขั้นต่ำเมื่อเทียบกับปีผ่านมานั้นถือว่าเหมาะสม แต่ยังมีความกังวลว่าราคาดังกล่าวอาจไม่ครอบคลุมกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ผู้ค้าปุ๋ยก็ไม่ได้ให้สินเชื่อเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวของเมียนมาในเดือนสิงหาคม 2564 มีแนวโน้มลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากยังคงมีการปิดจุดผ่านแดนระหว่างเมียนมาและจีน ประกอบกับความต้องการข้าวจากประเทศในแถบแอฟริกาและสหภาพยุโรปที่ยังคงมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การหยุดชะงักของการทำธุรกรรม และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกข้าวในขณะนี้

สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา (การส่งออกตามช่องทางปกติทางเรือ และการ ส่งออกทางชายแดน) มีแนวโน้มลดลงเหลือประมาณ 70,000 ตัน เนื่องจากยังคงมีการปิดด่านชายแดน ขณะที่ความต้องการข้าวจากประเทศในแถบแอฟริกาและสหภาพยุโรปมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม 2564) เมียนมาส่งออกข้าว (รวมการส่งออกตามช่องทางปกติทางเรือ และการส่งออกทางชายแดน) ไปแล้วประมาณ 1.076 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 22.7 โดยเป็นการส่งออกในช่องทางปกติทางเรือประมาณ 723,127 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 38.5 และการส่งออกทางชายแดนประมาณ 352,925 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 62.6 ทางด้านสถานการณ์

ราคาข้าวขายส่งในประเทศ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวโดยคาดว่าสถานการณ์ราคาจะยังคงอยู่ในระดับนี้ไปถึงเดือนสิงหาคม 2564 เนื่องจากยังคงมีการปิดด่านชายแดนเมียนมาและจีน และความต้องการที่ลดลงจากประเทศในแถบแอฟริกาและสหภาพยุโรป

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักข่าว Global Times รายงานว่า ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกข้าวยักษ์ (giant rice)ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของข้าวธรรมดา โดยข้าวชนิดพิเศษนี้ปลูกในนครฉงชิ่ง (Chongqing) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในพื้นที่ประมาณ 15 หมู่ (ประมาณ 10,000 ตารางเมตร) และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนกันยายนนี้

นาย เฉิน หยางเปียว (Chen Yangpiao) รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมแห่งชาติของจีน สาขาฉงชิ่ง (the deputy director of Chongqing branch of China National Hybrid Rice Research and Development Center) กล่าวว่า มีการเพาะต้นกล้าข้าวยักษ์ในหมู่บ้านชางหง (Changhong) ในฉงชิ่งเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ และนำต้นกล้าไปปักดำในเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าผลผลิตต่อหมู่น่าจะสูงถึง 750-900 กิโลกรัม (ประมาณ 1,798-2,158 กิโลกรัมต่อไร่, โดยพื้นที่ 1 หมู่ [MU] คือหน่วยวัดพื้นที่ของจีนเท่ากับ 1/15 เฮกตาร์ หรือเท่ากับประมาณ 0.4167 ไร่ หรือ 1 ไร่ เท่ากับ 2.4 MU หรือ 1 MU เท่ากับ 666.66 ตารางเมตร)

นายเฉินให้ข้อมูลว่า ความสูงเฉลี่ยของต้นข้าวแต่ละต้นอยู่ระหว่าง 1.8-2.25 เมตร ซึ่งสูงกว่าต้นข้าวธรรมดามาก โดยข้าวชนิดนี้มีลำต้นที่แข็งแรง อีกทั้งยังทนต่อน้ำท่วมขังและดินที่เป็นด่าง (salt-alkali soil) นอกจากนี้ ยังสามารถนำสารอาหารที่เพียงพอมาสู่พืชที่ขึ้นอยู่ใกล้เคียงและเป็นที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์น้ำและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ทั้งนี้ ในนาข้าวที่มีการปลูกข้าวยักษ์จะกักเก็บน้ำได้ลึก 60?80 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้ทุ่งนาเอื้อต่อการเลี้ยงปลา กุ้ง หรือปู โดยตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะมีการเพาะปลูกข้าวในรูปแบบนี้ในพื้นที่หลายพันหมู่ที่นครฉงชิ่ง

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ