นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ?ดอกกระเจียว? นับเป็นสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเริ่มมีเกษตรกรให้ความสนใจและมีการปลูกกระเจียวกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากดอกกระเจียวเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ได้รับความนิยมนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู มีรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม สรรพคุณแก้อาการท้องอืด ลดกรดในกระเพาะอาหาร จึงทำให้ดอกกระเจียวเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง
จากการติดตามสถานการณ์การผลิตและตลาดสินค้าดอกกระเจียวในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยการสัมภาษณ์ นายนพนันท์ คงพุดซา เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา ของ สศก. ที่ประสบความสำเร็จในการปลูกดอกกระเจียวเพื่อจำหน่าย บอกเล่าว่า เดิมครอบครัวตนมีอาชีพทำนาอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงต้องแบกรับความเสี่ยงสูงจากสภาพฝนฟ้าไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับการทำนาเก็บผลผลิตได้เพียงปีละ 1 ครั้ง จึงทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งเมื่อตนได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ศึกษาดูงานในสถานที่ต่างๆ ตามที่หน่วยงานในพื้นที่สนับสนุน รวมถึงได้รับองค์ความรู้ทั้งด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร จากการเข้าร่วมโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จึงเริ่มคิดหาสินค้าเกษตรที่สามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปีและตลาดมีความต้องการต่อเนื่องมาปลูกเสริมเพื่อสร้างรายได้ ในช่วงปลายปี 2560 จึงได้เริ่มปลูกดอกกระเจียวพันธุ์เพชรน้ำผึ้ง ซึ่งมีรสชาติหวานและกรอบกว่ากระเจียวพันธุ์อื่น ในพื้นที่ของตนเองจำนวน 2 งาน ซึ่งผลผลิตดอกกระเจียวสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกำลังขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และได้เผยแพร่องค์ความรู้การปลูกดอกกระเจียวให้กับเกษตรกรทั่วไป ได้นำไปทดลองปลูกเพื่อเสริมสร้างรายได้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยใช้พื้นที่ปลูกดอกกระเจียวของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้เครือข่าย ศพก.ให้เกษตรกรที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้เพื่อนำกลับไปประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้
สำหรับสถานการณ์การผลิต พบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 13,528 บาท/ไร่/ปี นิยมปลูกช่วงเดือน พฤศจิกายน ? ธันวาคม และให้ผลผลิตช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม หลังจากหมดผลผลิตแล้วต้นกระเจียวจะยุบตัวลงเหลือเพียงเหง้าในดินเพื่อรอให้ผลผลิตในปีถัดไป ซึ่งในการปลูก 1 ครั้ง สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 4 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,260 กิโลกรัม/ไร่/ปีราคาดอกกระเจียวที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 9 กันยายน 2564 อยู่ที่ 60 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนเฉลี่ย 65,000 บาท/ไร่/ปีคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 51,472 บาท/ไร่/ปี ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตทั้งหมดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในพื้นที่อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา โดยแบ่งเป็น ผลผลิตร้อยละ 84 จำหน่ายให้แม่ค้าในพื้นที่ ซึ่งมารับที่แปลงโดยการสั่งจองล่วงหน้า ส่วนผลผลิตร้อยละ 16 จำหน่ายที่ตลาดในพื้นที่
ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกษตรกรที่สนใจในการปลูกดอกกระเจียวนั้น ควรจะเริ่มปลูกในพื้นที่ไม่มาก จากนั้นค่อยนำเหง้ามาขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนค่าพันธุ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง และเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเฝ้าระวังโรคเน่าของเหง้าหากพื้นที่มีความชื้นมากเกินไป ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน เพื่อต้องการปลูกดอกกระเจียวเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ สามารถติดต่อหรือขอคำปรึกษาได้ที่ นายนพนันท์ คงพุดซา เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เลขที่ 62/1 หมู่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา โทร 08 2126 3469 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร 0 4446 5120 หรือ อีเมล์ zone5@oae.go.th
***************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร