นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ สศก. ได้ดำเนินโครงการ Supporting Agricultural Survey on Promoting Sustainable Agriculture in ASEAN Region หรือ โครงการ SAS - PSA เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการสำรวจการเกษตรแบบยั่งยืนตามตัวชี้วัดขององค์การสหประชาชาติ (UN) SDGs 2.4.1 Proportion of Agricultural Area under Productive and Sustainable Agriculture ซึ่งหมายถึงสัดส่วนของเนื้อที่เกษตรที่ทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อเนื้อที่เกษตรทั้งหมด รวมถึงใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่ภาครัฐ และผู้วางนโยบายด้านการเกษตร โดยดำเนินการสำรวจนำร่องจังหวัดฉะเชิงเทรา จากแบบสอบถามและเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณตัวชี้วัดต้นแบบจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกอบด้วยมิติด้านเศรษฐกิจ อาทิ มูลค่าผลผลิตต่อไร่ กำไรจากการขายผลผลิต การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและแหล่งประกันภัยพืชผลมิติสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ การใช้ปุ๋ยและสารเคมี การใช้สารกำจัดศัตรูพืช ความหลากหลายของผลผลิต และ มิติทางสังคม อาทิ อัตราค่าจ้างแรงงานภาคเกษตร การจ่ายค่าตอบแทน ปัญหาการขาดแคลนอาหาร และการถือครองที่ดินของเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสำรวจถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ที่เกษตรกรต้องพบเจอในช่วงของการแพร่ระบาดที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
ผลการสำรวจ 135 ครัวเรือนตัวอย่าง จาก 5 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ อ.พนมสารคาม (ต.บ้านช่อง) อ.สนามชัยเขต (ต.ท่ากระดาน) อ.บางน้ำเปรี้ยว (ต.หมอนทอง) อ.เมืองฉะเชิงเทรา (ต.บางเตย) และ อ.บ้านโพธิ์ (ต.สิบเอ็ดศอก) เนื้อที่ถือครองทางการเกษตรรวม 4,905 ไร่ พบว่า เกษตรกรมีความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 85.3 ด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 60.8 และด้านสังคม ร้อยละ 68.6 โดยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา สศก. ได้จัดประชุมเพื่อเสนอผลการสำรวจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา เกษตรอำเภอ กรมวิชาการ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ข้อมูลจากผลการสำรวจ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดทำข้อมูลในระดับจังหวัดหรือประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจดังกล่าว เป็นเพียงการสำรวจนำร่อง ยังไม่สามารถเป็นตัวแทนของครัวเรือนเกษตร ในจังหวัดฉะเชิงเทราได้
?เมื่อดูผลการสำรวจ จะเห็นว่า เนื้อที่เกษตรที่มีความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สูงถึงร้อยละ 85.3 ของเนื้อที่เกษตรทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเกษตรกรยังคงมีผลกำไรจากผลผลิตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและแหล่งประกันภัยได้ บางครัวเรือนมีรายได้จากผลผลิตมากกว่า 1 ชนิด ขณะที่มิติสิ่งแวดล้อม เนื้อที่เกษตรมีความยั่งยืน ร้อยละ 60.8 ซึ่งต่ำกว่ามิติอื่น เนื่องจากเกษตรกรยังคงใช้สารเคมีอันตรายในการกำจัดศัตรูพืช กำจัดแมลงในปริมาณที่ไม่เหมาะสม แม้จะใช้ปริมาณมากแต่ผลผลิตต่อไร่ยังต่ำ และแม้ว่าเนื้อที่ถือครองต่อครัวเรือนมีขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากเกษตรกรอายุมาก ส่วนใหญ่จึงเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ยังขาดความหลากหลายของผลผลิต ส่วนมิติความยั่งยืนด้านสังคม ร้อยละ 68.6 ของเนื้อที่เกษตรทั้งหมด เนื่องมาจากยังมีปัญหาด้านค่าจ้างแรงงานเกษตรที่ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรไม่มีความกังวลเรื่องการขาดแคลนอาหารและการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากในจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือน และปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองอีกด้วย แม้ต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19? รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ สศก. จะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ ASEAN Food Security Information System:AFSIS เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ สำหรับการวางนโยบายและแผนต่อไป โดยโครงการ SAS - PSA มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 8 เดือน (26 มีนาคม 2563 ? 25 พฤศจิกายน 2565) โดยนำร่องใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และลาว โดยเริ่มที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ณ จังหวัด ฉะเชิงเทรา และเตรียมขยายผลการสำรวจให้ครอบคลุมทั่วประเทศในระยะต่อไป
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร