สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 4, 2021 15:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,865 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 9,817 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,457 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 7,424 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.45

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 24,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,030 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 11,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.26

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 689 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,050 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 698 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,140 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.29 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 90 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,248 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,995 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 253 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,248 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,095 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 153 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.4543 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

กระทรวงเกษตร (The Philippines Department of Agriculture; DA) รายงานว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564) คาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 11 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกในปีนี้มีประมาณ 20 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปริมาณ 19.4 ล้านตัน ในปี 2563 ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2564 ฟิลิปปินส์สามารถเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกได้ประมาณ 4.17 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 1.2

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรระบุว่า รัฐบาลกำลังออกมาตรการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยตรงในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหลักเพื่อช่วยเหลือรายได้ของเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศหนังสือพิมพ์ Manila Bulletin รายงานว่า กลุ่มองค์กรด้านการเกษตร Samahang Industriya ng Agrikultura (Sinag) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าราคาข้าวขายปลีกในประเทศยังคงสูง แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีการนำเข้าจำนวนมากก็ตาม ซึ่งเห็นได้จากการที่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าข้าวจำนวนมากแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ราคาข้าวในประเทศลดลงได้

ในปี 2563 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกข้อจำกัดด้านปริมาณในการนำเข้าข้าว (the quantitative restrictions on rice imports) และได้ใช้นโยบายตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากร (the Rice Tariffication Law) ที่มีการอนุญาตให้นำเข้าข้าวเข้าในประเทศได้ไม่จำกัด และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลยังได้ลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวเข้าจากประเทศนอกอาเซียนเป็นการชั่วคราวด้วย

ข้อมูลของทางการระบุว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมามีการนำเข้าข้าวประมาณ 7.2 ล้านตัน ซึ่งแม้จะมีการนำเข้าข้าวจำนวนมาก แต่ราคาขายปลีกของข้าวสารเกรดธรรมดา (retail prices of regular milled rice) ยังคงอยู่ที่ประมาณ 38 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 747 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระดับราคาที่ 27-30 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 531-590 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) เมื่อห้าปีก่อน ในทางกลับกัน การนำเข้าข้าวจำนวนมากจากต่างประเทศได้ผลักราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรให้ลดลงอยู่ที่ 10-13 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 196-256 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน)ซึ่งระดับราคาดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

ที่มา: Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) รายงานว่า ปริมาณข้าวนำเข้าของจีนในเดือนกรกฎาคม 2564 มีปริมาณ 287,686.27 ตัน ลดลงร้อยละ 5.99 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยนำเข้าข้าวจากประเทศอินเดีย 104,680 ตัน เวียดนาม 83,664.57 ตัน และไทย 32,109.71 ตัน สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นครฉงชิ่งได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวยักษ์ซึ่งเป็นข้าวลูกผสมสายพันธุ์หนึ่งที่มีความสูง 2 เมตร ในแปลงทดลอง โดยให้ผลผลิตประมาณ 1.2 ตันต่อไร่ โดยรายงานข่าวระบุว่า ข้าวยักษ์เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ พัฒนาโดยสถาบันการเกษตรกึ่งเขตร้อน สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ในปี 2560 และประสบความสำเร็จในการเพาะปลูก

ที่มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน และพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ ข้าวยักษ์มีความสูงเป็นสองเท่าของข้าวธรรมดา โดยมีความสูงมากสุดราว 2.2 เมตร

นายเฉิน หยางผู่ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมข้าวลูกผสมระดับชาติของจีน สาขานครฉง ชิ่ง กล่าวว่า ข้าวยักษ์มีรวงข้าวขนาดใหญ่และให้เมล็ดข้าวมากกว่า จึงให้ผลผลิตค่อนข้างสูงและคุณภาพดี ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งที่โดดเด่น คือ สามารถนำมาปลูกในนาร่วมกับการเลี้ยงปลาได้ และเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ