สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 1, 2021 14:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 25 - 31 ตุลาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้
1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพโดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,658 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,643 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.15

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,651 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,678 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 24,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,890 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.50

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 702 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,145 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,190 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 45 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,287 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,318 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,287 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,318 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.9699 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

กระทรวงการคลัง (the Department of Finance) รายงานว่า การนำเข้าข้าวในปีนี้นับจนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 มีจำนวนประมาณ 2.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่สำนักงานศุลกากร (The Bureau of Customs; BoC) รายงานว่า นับจนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 รัฐบาลสามารถเก็บภาษีนำเข้าข้าวได้แล้วประมาณ 14.3 พันล้านเปโซ (จากการนำเข้าข้าวที่คิดเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 40.81 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 802.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งมากกว่างบประมาณที่กำหนดให้ใช้สำหรับกองทุนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันข้าว (Rice Competitiveness Enhancement Fund; RCEF) ที่จัดสรรไว้ปีละ 10 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 196.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งกองทุนนี้มีการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับโครงการและโปรแกรมต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าข้าวในปี้นี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 18,898 เปโซต่อตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 31 เปโซต่อตัน จาก 18,867 เปโซต่อตัน ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ส่งผลให้มูลค่าข้าวเฉลี่ยต่อตันเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2563 สำนักงานศุลกากร (BoC) สามารถจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวได้ประมาณ 15.47 พันล้านเปโซ ตามข้อกำหนดของกฎหมายการเปิดเสรีการค้าข้าว (Republic Act 11203 or the Rice Tariffication Law / the rice trade liberalization law) ที่ประกาศใช้ในปี 2561 ระบุภาษีนำเข้าข้าวที่จัดเก็บได้มากกว่า 10 พันล้านเปโซ จะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินของเกษตรกรผ่านโครงการไถพรวนดินเพื่อการเกษตร การขยายโครงการประกันพืชผลในข้าว และโครงการกระจายพันธุ์พืช

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง รายงานว่า สำนักงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าข้าวเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ประมาณ 357,362.17 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.22 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 โดยประเทศหลักที่จีนนำเข้าข้าวในเดือนสิงหาคม 2564 ประกอบด้วย ประเทศอินเดีย 160,920.4 ตัน ประเทศเวียดนาม 69,835.55 ตัน และประเทศไทย 45,994.53 ตัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ประเทศจีนเคยนำเข้าข้าวมากที่สุดเมื่อปี 2560 โดยนำเข้าข้าวประมาณ 3.99 ล้านตัน และจากข้อมูลของสำนักงานศุลกากร (the General Administration of Customs of the People?s Republic of China; GACC) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-สิงหาคม) ประเทศจีนนำเข้าข้าวเป็นจำนวนมากถึง 3.178 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 112.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่นำเข้าประมาณ 1.498 ล้านตัน ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศจีนมักจะนำเข้าข้าวเฉลี่ยเดือนละประมาณ 100,000- 200,000 ตัน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 การนำเข้าข้าวในแต่ละเดือนมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 300,000-700,000 ตัน ซึ่งทำให้หลายฝ่ายต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2564 จะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยหน่วยงานของทางการจีน คาดว่าในปีการตลาด 2563/64 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) จะมีการนำเข้าข้าวมากถึง 4.9 ล้านตัน และในปีการตลาด 2564/65 (ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) จะมีการนำเข้าข้าว ประมาณ 4.2 ล้านตัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าวนานาชาติ คาดว่าในปีการตลาด 2563/64 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) จะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 5.0 ล้านตัน และในปีการตลาด 2564/65 (ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) จะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 4.6 ล้านตัน

สำนักงานศุลกากร (GACC) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-สิงหาคม) ประเทศจีนนำเข้าข้าวจากประเทศอินเดียมากที่สุด โดยนำเข้าจำนวน 730,781 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 589,239.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามด้วยเวียดนาม 711,372 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 ปากีสถาน 643,744 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 249.6 เมียนมาร์ 586,645 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.5 ไทย 268,550 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.4 กัมพูชาร้อยละ 185,029 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 ไต้หวัน 45,911 ตัน ลดลงร้อยละ 20.7 และลาว 5,980 ตัน ลดลงร้อยละ 55.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นต้น

ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวจากอินเดียในเดือนสิงหาคม 2564 คิดเป็นร้อยละ 45 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมดในเดือนสิงหาคม และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 การนำเข้าข้าวจากอินเดียคิดเป็นร้อยละ 25 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด ซึ่งสาเหตุที่จีนนำเข้าข้าวจากอินเดียเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากราคาข้าวของอินเดียถูกกว่าแหล่งอื่น ซึ่งราคาข้าวจากอินเดียเฉลี่ยอยู่ที่ 345 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในตลาดโลกที่ 454 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวเฉลี่ยของเมียนมาร์ และปากีสถาน อยู่ที่ 368 และ 433 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ

ประเทศจีนเคยนำเข้าข้าวสาร (Milled rice) จำนวนมากกว่าข้าวชนิดอื่น แต่ในปัจจุบันนี้ การนำเข้าข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวหัก (broken rice) คิดเป็นร้อยละ 50 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด โดยข้าวที่นำเข้าจากอินเดียเป็นข้าวหักคิดเป็นร้อยละ 97 และข้าวที่นำเข้าจากเมียนมาร์เป็นข้าวหักคิดเป็นร้อยละ 46 ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า ข้าวหักที่นำเข้าส่วนใหญ่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว ผู้ค้าข้าวจีนระบุว่า ราคาข้าวหักนั้นอยู่ในระดับที่ดีมาก จนผู้นำเข้าไม่สนใจที่จะต้องไปขอส่วนแบ่งของโควตาอัตราภาษีศุลกากรของจีน (China?s tariff rate quota; TRQ) ซึ่งข้าวจะอยู่ที่อัตราร้อยละ 1 แต่พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีศุลกากรทั่วไป (the Most-Favored Nation; MFN) สำหรับข้าวนอกโควตาซึ่งมีอัตราภาษีที่ร้อยละ 10 นอกจากนี้ ผู้นำเข้าสามารถใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีศุลกากร (the conventional tariff rate) สำหรับข้าวที่นำเข้าจากสมาชิกอาเซียน (เช่น เมียนมาร์ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย) ได้เช่นกัน ซึ่งจีนมีข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) และภาษีนำเข้าข้าวอยู่ที่อัตราร้อยละ 5วงการอุตสาหกรรมข้าวตั้งข้อสังเกตว่า ราคาข้าวในต่างประเทศได้ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งในช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 399 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (ประมาณ 2,594 หยวนต่อตัน) ลดลงร้อยละ 30 จากราคาสูงสุดในปีนี้นอกจากนี้ ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ 415 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ประมาณ 2,698 หยวนต่อตัน) ลดลงร้อยละ 20 จากราคาสูงสุดในปี 2564 ขณะที่ข้าวขาว 5% ของปากีสถานราคาอยู่ที่ 360 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ประมาณ 2,340 หยวนต่อตัน) ลดลงร้อยละ 23 จากราคาสูงสุดในปี 2564

จากสถานการณ์ราคาเช่นนี้ ประกอบกับการนำเข้าข้าวที่แข็งแกร่งตลอดทั้งปี ได้ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองแล้ว โดยข้อมูลจากสำนักงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรและอาหารแห่งชาติ (The National Food and Strategic Resource Administration; NFSRA) แสดงให้เห็นว่า ราคารับซื้อข้าวที่ระดับไร่นา (domestic procurement prices at the farm level) ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 413 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ประมาณ 2,685 หยวนต่อตัน) ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าราคาประมูลข้าวในประเทศ (the domestic rice auction prices) มีแนวโน้มลดลงตลอดปี 2564 โดยราคาอยู่ที่ 385 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ประมาณ 2,504 ต่อตัน) ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่าประเทศจีนยังคงมีข้าวในสต็อกประมาณ 115-174 ล้านตัน และแม้ว่าจีนจะนำเข้าข้าวในปริมาณมาก แต่ก็ยังคาดว่าการเก็บเกี่ยวข้าวในปี 2564 จะยังแข็งแกร่ง และอุปทานยังคงเพียงพอทางด้านการส่งออกข้าวของจีนนั้น มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2560, 2561 และ 2562 โดยการส่งออกข้าวของจีนในเดือนมกราคม-สิงหาคม 2564 มีจำนวนประมาณ 1.7 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แต่ลดลงร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยการส่งออกข้าวของจีนไปยังประเทศในแอฟริกาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น จากการที่ราคาข้าวถูกกว่า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอินเดียมีมากกว่าจีน

ทั้งนี้ ราคาข้าวของจีนไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากราคาข้าวของต่างประเทศได้ปรับลดลงอย่างมากในปี 2564 ขณะที่ ราคาส่งออกข้าวของจีนได้ปรับลดลงประมาณร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในเดือนสิงหาคม 2563 ราคาอยู่ที่ประมาณ 354.8 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งทำให้ยังสามารถส่งออกข้าวบางส่วนออกไปได้บ้าง แต่จากการที่จีนยังคงมีการใช้ข้าวแทนข้าวโพดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จึงทำให้ความสามารถในการส่งออกข้าวของจีนในระยะอันใกล้อาจจะลดลงไปเว็บไซต์ของรัฐบาลจีนเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท (the Ministry of Agriculture and Rural Affairs) โดยคาดว่า ในปี 2564 ผลผลิตธัญพืชของจีนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้จะเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากฝนที่ตกต่อเนื่องในระหว่างการเก็บเกี่ยวเมล็ดพืชในฤดูใบไม้ร่วง (the autumn grain harves) ในมณฑลซานซี และส่านซี (Shanxi and Shaanxi provinces) ก็ตาม โดยคาดว่าผลผลิตธัญพืชทั้งหมด จะมีปริมาณมากกว่า 650 ล้านตัน ทั้งนี้ ธัญพืชในฤดูใบไม้ร่วง (Autumn grains) มีสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 ของการผลิตธัญพืชของจีน ซึ่งรวมถึงธัญพืชฤดูร้อน และข้าวในช่วงต้นฤดู (summer grains and early season rice) โดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทระบุว่า ปริมาณผลผลิตธัญพืชในฤดูร้อนของปี 2564 (The 2021 summer grain output) คาดว่ามีปริมาณสูงถึง 145.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 2.97 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตข้าวต้นฤดู (The early season rice output) คาดว่าจะมีปริมาณสูงถึง 28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 725,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะนี้ การเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูใบไม้ร่วง (The autumn grain) กำลังดำเนินการไปโดยคาดว่ามีการเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วประมาณร้อยละ 80 ซึ่งทางการคาดว่า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันทางการระบุว่า ความเสียหายของผลผลิตธัญพืชที่เกิดจากผลกระทบจากฝนตกหนักในมณฑลซานซี ส่านซี และเหอหนาน นั้น (Shanxi, Shaanxi, and Henan provinces) คาดว่าจะถูกชดเชยโดยการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชอื่นๆ ในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ที่มา Oryza.com สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ