สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2021 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 1 - 7 พฤศจิกายน 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพโดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,586 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,658 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.74

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,667 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,651 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.21

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 24,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,670 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,890 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.85

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 669 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,125 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 702 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,145 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.70 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,020 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,097 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,287 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.74 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 190 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,097 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,287 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.74 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 190 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.0720 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือนครึ่ง (นับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2564) เนื่องจากค่าเงินรูปีเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นในรอบกว่า 3 สัปดาห์ ประกอบกับอุปทานข้าวในประเทศมีปริมาณลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งอุปทานข้าวมักจะมีปริมาณจำกัด ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศยังคงมีอยู่ ทำให้ข้าวนึ่ง 5% ราคาปรับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 363-367 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จากระดับ 362-365 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่วงการค้ารายงานว่า อุปทานข้าวฤดูใหม่เพิ่งจะทยอยออกสู่ตลาด

ทำให้อุปทานข้าวในตลาดมีจำกัด โดยคาดว่าอุปทานข้าวฤดูใหม่จะออกสู่ตลาดสูงที่สุดในช่วงเดือนหน้า ซึ่งน่าจะช่วยให้ราคาข้าวอ่อนตัวลงได้บ้าง กรมการอาหารและการกระจายสินค้าสาธารณะ สังกัดกระทรวงกิจการผู้บริโภคอาหารและการกระจายสินค้าสาธารณะ (The Department of Food and Public Distribution under the Ministry of Consumer Affairs, Food and Public Distribution) แถลงว่า โครงการจัดหาข้าวของรัฐบาลในฤดูการผลิต Kharif (Kharif marketing season; KMS) ของปี 2564/65 (1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565) ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2564 สามารถจัดหาข้าวได้ประมาณ 5,662,885 ตัน โดยมีเกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้แล้ว ประมาณ 371,919 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,473.154 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นราคาเฉลี่ยของข้าวที่รัฐบาลรับซื้อ ประมาณ 260 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน)โครงการจัดหาข้าวของรัฐบาลในฤดูการผลิต Kharif (Kharif marketing season; KMS) ของปี 2563/64 (1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2564) ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถจัดหาข้าวได้ประมาณ 89.24 ล้านตันข้าวเปลือก ประกอบด้วยข้าวจากฤดูการผลิต Kharif crop ประมาณ 71.81 ล้านตัน และจากฤดูการผลิต Rabi crop ประมาณ 17.615 ล้านตัน

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 กระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกร (the Ministry of Agriculture & Farmers Welfare) รายงานว่า รัฐบาลได้ประกาศราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) สำหรับฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-กันยายน) ส่วนปี 2564/65 (ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) รัฐบาลได้ประเมินต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในปี 2564/65 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,293 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 177 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรมีผลกำไรประมาณร้อยละ 50 จากการเพาะปลูกข้าว รัฐบาลจึงกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำสำหรับข้าวคุณภาพธรรมดาไว้ที่ 1,940 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 266 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.85 จาก 1,868 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 256 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ในปี 2563/64 ขณะที่ข้าวคุณภาพดี (Grade ?A? paddy) กำหนดราคาไว้ที่ 1,960 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 269 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.8 จาก 1,888 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 258 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ในปี 2563/64

ที่มา Oryza.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวส่งออกปรับลดลงท่ามกลางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศที่เป็นไปอย่าง รุนแรง เนื่องจากราคาข้าวของประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และไทย อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเวียดนามพอสมควร โดยราคา ข้าวขาว 5% อยู่ที่ 425-430 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจากระดับ 430-435 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวของเวียดนามยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งพอสมควร แม้ว่าราคาจะอ่อนตัวลงแล้ว ขณะที่วงการค้ารายงานว่า ในเดือนตุลาคม 2564 ข้อมูลเบื้องต้น เวียดนามมีการขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City (HCMC) Port ประมาณ 321,555 ตัน ส่วนใหญ่มีปลายทางไปยัง ฟิลิปปินส์ แอฟริกา และคิวบา โดยวงการค้าคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะมีการส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากยังคงมีความต้องการข้าวจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน 2564 จะมีเรือบรรทุกสินค้า (breakbulk ships) อย่างน้อย 14 ลำ เข้ามารอรับสินค้าข้าวที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City (HCMC) Port เพื่อรับมอบข้าวประมาณ 263,722 ตัน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ในเดือนตุลาคม 2564 เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 530,000 ตัน เพิ่มขึ้น 46.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม 2564) เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.1 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย รายงานว่าผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าวระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ได้เปิดโอกาสอย่างมากต่อผู้ส่งออกข้าวเวียดนามข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากรเวียดนามระบุว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน ในเดือนกันยายน 2564 การส่งออกข้าวมีปริมาณ 593,624 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 คิดเป็นมูลค่า 293.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เวียดนามส่งออกข้าวไปต่างประเทศปริมาณ 4.57 ล้านตันลดลงร้อยละ 8.3 คิดเป็น มูลค่า 2,420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ต่อการเก็บเกี่ยวและการขนส่งข้าวในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตข้าวใหญ่ที่สุดของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมข้าวจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อการแพร่ระบาดของ Covid-19 อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างดีสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ระบุว่า เวียดนามคาดหวังถึงโอกาสที่ดีในการเพิ่มการส่งออก เมื่อแหล่งผลิตข้าวอื่นๆ เช่น อินเดีย และไทย คาดการณ์ว่าผลผลิตจะเริ่มลดลงในช่วงนี้ ในขณะที่อุปสงค์ทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นบริษัทหลักทรัพย์ Mirae Asset Vietnam ระบุว่า ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EVFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 กำลังช่วยกระตุ้นการส่งออกข้าวเวียดนามไปยังตลาดยุโรป

ปัจจุบันสินค้าข้าวของเวียดนามเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงในการส่งออก เนื่องจากมีการพัฒนาคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคีระหว่างเวียดนามกับประเทศต่างๆ อาทิเช่น ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปเวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement - EVFTA) และความตกลงการค้าเสรีระหว่างอังกฤษ - เวียดนาม (The UK-Vietnam free trade agreement - UKVFTA) สร้างข้อได้เปรียบจากสิทธิพิเศษทางภาษีทำให้ข้าวเวียดนามสามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นได้ ช่วยให้เวียดนามสามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดในประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องพบกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในตลาดข้าวดังกล่าว

ที่มา Oryza.com สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ