สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2021 13:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 15 - 21 พฤศจิกายน 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพโดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,206 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,357 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.62

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,708 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,733 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.32

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 24,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,510 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.23

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 664 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,530 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 665 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,692 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.15 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 162 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,067 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ ตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,950 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.51 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 117 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,067 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,950 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.51 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 117 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4248 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 ผลผลิต 511.720 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 507.300 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2563/64 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 มีปริมาณผลผลิต 511.720 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.87 การใช้ในประเทศ 511.265 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.93 การส่งออก/นำเข้า 48.699 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก ปี 2563/64 ร้อยละ 1.31 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 187.941 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.24 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล เมียนมา อียู ปากีสถาน ปารากวัย ไทย ตุรกี อุรุกวัย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา กัมพูชา จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไอเวอรี่โคสต์ อียิปต์ เอธิโอเปีย อียู อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาดากัสการ์ เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังกลาเทศ บราซิล ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และแอฟริกาใต้ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวส่งออกอยู่ในระดับทรงตัว ท่ามกลางภาวะอุปทานข้าวในตลาดที่เริ่มตึงตัว หลังจากเกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบที่ 2 หรือข้าวในฤดูการผลิตฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว (autumn-winter crop) เรียบร้อยแล้ว โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 430-435 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมาวงการค้าคาดว่า ราคาข้าวอาจปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูใหม่ ขณะที่เกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงกำลังลงมือเพาะปลูกข้าวฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิต(the winter-spring crop)

ข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ในเดือนตุลาคม 2564 เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 618,162 ตัน มูลค่าประมาณ 321.941 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.10 และร้อยละ 9.80

เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 70.38 และร้อยละ 67.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2563) และในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม 2564) เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.183 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 3.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าส่งออกอยู่ที่ประมาณ 2,737.195 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา รายงานว่า หน่วยงาน Bulog ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการจัดเก็บสต็อกข้าวและพืชผลทางการเกษตรของรัฐบาล ได้ระดมรับซื้อข้าวจากชาวนา โดยตัวเลขรับซื้อ ณ วันที่ 22 กันยายน 2564 สามารถรับซื้อได้ครบจำนวน 1 ล้านตันข้าวสาร จากกลุ่มเกษตรกร GAPOKTAN หรือเท่ากับข้าวประมาณ 1,879,146 ตันข้าวเปลือก (GKP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา และลดผลกระทบที่จะมีต่อเกษตรกร

เมื่อเดือนตุลาคม 2564 อินโดนีเซียได้เริ่มส่งออกข้าวไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นครั้งแรกผ่าน บริษัท PT Sang Hyang Seri (Food Cluster BUMN บริษัทรัฐวิสาหกิจภาคเกษตรกรรม) โดยทยอยส่งออกข้าวในเดือน ตุลาคม 2564 รวมจำนวน 20 ตัน มูลค่า 21,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ และจะส่งข้าวในเดือนพฤศจิกายนอีกจำนวน 120 ตัน มูลค่า 127,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของอินโดนีเซียไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 140 ตัน มูลค่า 148,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกครั้งนี้สอดคล้องกับทิศทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้ส่งเสริมให้มีการแปรรูปพืชอาหารเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น

สำนักสถิติกลาง (Badan Pusat Statistik; BPS) รายงาน ราคาข้าวที่โรงสีข้าว ณ เดือนตุลาคม 2564 กิโลกรัมละ 9,173 รูเปียห์ สูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 0.31 และราคาขายส่งสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 0.15 ซึ่งสวนทางกับราคาขายปลีกที่ลดลงร้อยละ 0.10 และราคารับซื้อข้าวเปลือก (GKP) ที่โรงสีลดลงร้อยละ 4.13 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการแปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารลดลงร้อยละ 7.23 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากศูนย์กลางการศึกษานโยบายของอินโดนีเซีย (The Center for Indonesian Policy Studies; CIPS) ระบุว่า ราคาข้าวอินโดนีเซียแพงกว่าข้าวจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยราคาข้าวในประเทศแต่ละเดือนจะผันผวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ด้วยราคาขายปลีกข้าวขึ้นอยู่กับกลไกการผลิตและการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันผลผลิตข้าวในประเทศมีไม่มากพอที่จะรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้คงที่ตลอดปี ผลผลิตข้าวตามฤดูกาลมีความผันผวนมาตั้งแต่ปี 2556 โดยผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 0.83 ตันต่อไร่ ซึ่งราคาข้าวที่สูงขึ้นเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะเวลาในการเพาะปลูกนานขึ้น ความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อมทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลราคาอาหารเชิงกลยุทธ์ (Pusat Informasi Harga Pangan Strategis; PIHPS) รายงานว่า ราคาข้าวเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่กิโลกรัมละ 11,650 รูเปียห์ สูงกว่าราคาข้าวเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่กิโลกรัมละ 11,450 รูเปียห์ ขณะเดียวกันข้อมูลจาก CIPS Food Monitor แสดงให้เห็นว่าราคาข้าวต่างประเทศ (FOB Bangkok) ถูกกว่าราคาข้าวในประเทศอินโดนีเซียมาก

สถานการณ์ปัจจุบัน ผลผลิตข้าวภายในประเทศมีเพียงพอต่อการบริโภค แต่ไม่เพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพด้านราคา หากต้องเผชิญกับความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นถ้ามีการเปิดประเทศ หรือหากมีความผันผวนจากปริมาณผลผลิตข้าวตามฤดูกาล โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2556 อินโดนีเซียมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยปีละ 0.83 ตันต่อไร่ ขณะที่ รัฐบาลแจ้งว่าผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นทุกปีและมีข้าวในประเทศเกินดุล แต่ประชาชนยังคงประสบกับภาวะราคาข้าวที่สูงขึ้น

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ไนจีเรีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2564/65 (ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) คาดว่าไนจีเรียจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 22.81 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) ประมาณร้อยละ 1.38 เนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมามีการขยายพื้นที่เพาะปลูกทางตอนใต้ของประเทศ ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกคาดว่าจะมีประมาณ 7.937 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 7.762 ล้านตัน ในปี 2563/64 เนื่องจากมีการแนะนำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าว 2 รอบ ทำให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังมากขึ้นจากเดิมที่ปลูกเฉพาะข้าวนาปี

ทางด้านการบริโภคข้าว คาดว่า ในปีการตลาด 2564/65 จะมีประมาณ 6.95 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก6.90 ล้านตัน ในปี 2563/64 ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคของชาวไนจีเรียที่มีต่อข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวบาสมาติและข้าว ofada ที่ผลิตในท้องถิ่น ส่วนสต็อกข้าวปลายปีคาดว่าจะมีประมาณ 652,000 ตัน ลดลงจาก 702,000 ตัน ในปี 2563/64 โดยเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ระบายข้าวเปลือกประมาณ 27,000 ตัน ให้แก่โรงสีข้าวเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าภาวะราคาข้าวยังคงอยู่ในระดับสูง

ด้านการนำเข้า ในปีการตลาด 2564/65 คาดว่าจะมีประมาณ 2.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.90 ล้านตันในปี 2563/64 เนื่องจากชาวไนจีเรียยังคงชื่นชอบข้าวนึ่งที่นำเข้าจากไทยและอินเดีย ซึ่งยังคงมีการนำเข้ามาในประเทศผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ และมีการนำออกวางขายอย่างเสรีในตลาดภายในประเทศ รวมทั้งในร้านค้าที่อยู่ริมถนนด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลไนจีเรียให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวเพื่อการพึ่งพาตัวเองแทนการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งส่วนหนี่งของเป้าหมายนี้ รัฐบาลได้กำหนดว่า ห้ามทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราสำหรับการนำเข้าข้าว นอกจากนี้ยังมีมาตรการปิดพรมแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจัดการปัญหาการลักลอบขนข้าวผ่านแดนด้วย

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ