นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ?อโวคาโด? เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค เนื่องจากเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน รวมถึงตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และการสกัดน้ำมันอโวคาโดเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมความงาม ปัจจุบันพบการปลูกอโวคาโดมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 97 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ แหล่งปลูกสำคัญอยู่บนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และตาก ซึ่งเกษตรกรบนพื้นที่สูงในเขตภาคเหนือหันมาปลูกอโวคาโดเป็นพืชทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ที่มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และถั่วลิสง เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำลายที่ดินและบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงอโวคาโดยังเป็นไม้ยืนต้นที่มีใบเขียวตลอดทั้งปีสามารถเป็นป่าทดแทนได้
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตอโวคาโดอันดับ 1 ของภาคเหนือ ซึ่งจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกอโวคาโดกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูล ณ 16 พฤศจิกายน 2564) มีพื้นที่ปลูกรวม 11,309 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 1,761 ราย แหล่งปลูกสำคัญครอบคลุมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ เชียงดาว ฝาง หางดง แม่แตง และแม่วาง ซึ่ง สศท.1 ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาการผลิต และการตลาดอโวคาโดของจังหวัดเชียงใหม่ โดยศึกษาอโวคาโดพันธุ์คุณภาพดี 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ปีเตอร์สัน บัคคาเนียร์ บูท 7 พิงค์เคอร์ตัน และแฮส ซึ่งเป็นพันธุ์การค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง เนื้อผลดี มีเปอร์เซ็นต์ไขมันสูง โดยจากการสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 109 ราย พบว่า เกษตรกรนิยมนำกล้าพันธุ์ที่เสียบยอดพันธุ์คุณภาพดีมาปลูกลงในแปลง เพราะสามารถป้องกันการติดโรค และได้ต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งเกษตรกรจะซื้อต้นพันธุ์จากสวนที่จำหน่ายกล้าพันธุ์ในราคา 150 บาท/ต้น ด้านต้นทุนการผลิตอโวคาโด 5 สายพันธุ์ พบว่า ในปีแรกของการลงทุนเกษตรกรจะมีต้นทุนเฉลี่ย 11,877 บาท/ไร่/ปี ประกอบด้วยค่าต้นพันธุ์ และค่าบำรุงรักษาต้น ปีที่ 2 ? 3 ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,443 บาท/ไร่/ปี ต้นทุนลดลงเนื่องจากเกษตรกรไม่ต้องจ่ายค่าต้นพันธุ์ จะมีเพียงค่าดูแลรักษาเท่านั้น และเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มให้ผลผลิต จะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 14,989 บาท/ไร่/ปี ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบำรุงรักษาต้นอย่างพิถีพิถัน ค่าแรงงานในการเก็บผลผลิต และค่าวัสดุอุปกรณ์การเกษตร สำหรับการปลูกอโวคาโด สามารถปลูกได้ทุกฤดูแต่จะนิยมปลูกในช่วงฤดูฝน ถ้ามีฝนตกชุกมาก ต้องระวังไม่ให้น้ำขัง ถ้าปลูกในช่วงฤดูร้อนควรเตรียมวัสดุป้องกันแสงแดด เพื่อบังส่วนของเปลือกลำต้นหรือกิ่งก้าน เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม ? กุมภาพันธ์ ของทุกปี ให้ผลผลิตรวม 5,800 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 835 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ 16 พฤศจิกายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 37 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 30,913 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 15,924 บาท/ไร่/ปี
ด้านสถานการณ์ตลาดอโวคาโด 5 สายพันธุ์ พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 46 เกษตรกรจำหน่ายให้กับมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อกระจายสินค้าไปจำหน่ายให้กับร้านค้าโครงการหลวง ห้างสรรพสินค้า และผู้รวบรวมเอกชนของโครงการหลวง รองลงมาผลผลิตร้อยละ 28 ส่งจำหน่ายให้กับผู้รวบรวมในพื้นที่เพื่อกระจายสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดขายส่งจังหวัดเชียงใหม่ พ่อค้าขายปลีก ในจังหวัด และตลาดขายส่งจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และเพชรบูรณ์ ผลผลิตร้อยละ 20 ส่งจำหน่ายให้กับสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะกระจายสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดไท และโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ อโวคาโดแช่แข็ง ไอศกรีม แชมพู เป็นต้น ส่วนผลผลิตที่เหลือส่งจำหน่ายพ่อค้าขายปลีกในพื้นที่ และผ่านทางออนไลน์
ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวทิ้งท้ายว่า อโวคาโด นับเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้สูงให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูง เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม มีความหลากหลายของสายพันธุ์ ทำให้มีผลผลิตออกกระจายตลอดทั้งปี ทั้งนี้ เกษตรกรควรวางแผนการผลิตและตลาด โดยปลูกหลายสายพันธุ์ เป็นพันธุ์ทางการค้า ตลาดมีความต้องการ ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตออกจำหน่าย ได้ตลอดฤดูกาล รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนหันมาบริโภคอโวคาโด ที่มีทั้งรสชาติอร่อยพร้อมด้วยคุณค่าทางอาหารสูง เพื่อสนับสนุนรายได้แก่กลุ่มเกษตรกรได้มีกำใจในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพต่อไป ท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดอโวคาโดจังหวัดเชียงใหม่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร 0 5312 1318 อีเมล zone1@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร