นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจและเป็นสินค้าทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจเลี้ยงในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยพบว่าเกษตรกรมีการเลี้ยงทั้งแบบปล่อยทุ่ง และแบบขังคอกหรือแพะขุน ซึ่งการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งจะมีความเสี่ยงต่อการกินหญ้าที่มีสารพิษตกค้าง โรคพยาธิ และเกิดความสูญเสียแพะระหว่างการเลี้ยงสูง อีกทั้งแพะจะได้รับคุณค่าทางโภชนาการไม่เพียงพอส่งผลต่อระยะเวลาการเลี้ยง สำหรับการเลี้ยงแบบขังคอกหรือแพะขุน แม้การลงทุนช่วงแรกจะสูงแต่เป็นการเลี้ยงที่เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบันที่มีพื้นที่เลี้ยงแพะจำกัด อีกทั้งยังช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ โรคพยาธิ สารพิษตกค้าง และปัญหาแพะรุกเข้าไปในที่สวนไร่นา
สศท.7 ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในระดับพื้นที่ เรื่อง การผลิตและการตลาดแพะขุนในพื้นที่ภาคกลางตอนบน (ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี) ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการเลี้ยงแพะเพื่อเสริมรายได้มากขึ้น เนื่องจากแพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินอาหารได้หลากหลาย และใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย โดยในปี 2564 (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อทั้งแบบขุนและแบบปล่อยทุ่ง ทั้ง 3 จังหวัดรวม 4,136 ราย แบ่งเป็น จังหวัดลพบุรี จำนวน 2,007 ราย จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1,211 ราย และจังหวัดชัยนาท จำนวน 918 ราย มีการเลี้ยงแพะเนื้อรวม 131,383 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 90,450 ตัว (เพิ่มขึ้น 40,933 ตัว หรือร้อยละ 45) พื้นที่การเลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดลพบุรี ลักษณะการเลี้ยงของเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางตอนบน ส่วนใหญ่เลี้ยงแบบขังคอกหรือแพะขุนเป็นหลัก สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง คือ สายพันธุ์ลูกผสม เป็นพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์บอร์กับสายพันธุ์พื้นเมือง และสายพันธุ์บอร์กับสายพันธุ์แองโกลนูเบียน ซึ่งจะได้แพะที่มีความแข็งแรง โตเร็ว ทนต่อโรค และสภาพแวดล้อมได้ดี และเป็นที่นิยมของตลาด
หากพิจารณาต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตแพะขุนของภาคกลางตอนบน ปี 2564 พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 1,476 บาท/ตัว หรือ 72 บาท/กิโลกรัม แยกเป็นค่าแรงงาน 160 บาท/ตัว ค่าอาหาร วัสดุอุปกรณ์ 1,086 บาท/ตัว และส่วนที่เหลือ 230 บาท/ตัว เป็นค่าเสียโอกาสในการลงทุน ค่าเช่าที่ดิน/ค่าใช้ที่ดิน ค่าเสื่อม/ค่าเสียโอกาสโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะ 1-2 ตัว/รุ่น สำหรับแพะเพศเมีย จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือนไปจนถึงอายุประมาณ 8 ปี ส่วนแพะเพศผู้ จะเริ่มผสมพันธุ์ตอนอายุประมาณ 1 ปี ไปจนถึงอายุประมาณ 8 ปีเกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะขุนอายุเฉลี่ย 4 เดือน ในราคา 2,891 บาท/ตัว หรือ 140.41 บาท/กิโลกรัม (น้ำหนักเฉลี่ย 20.59 กิโลกรัม/ตัว) คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 1,415 บาท/ตัว
ด้านสถานการณ์ตลาดแพะขุน การจำหน่ายแพะขุนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48 เกษตรกรส่งจำหน่ายให้กับผู้รวบรวมรายใหญ่ในจังหวัดลพบุรี และชัยนาท ผลผลิตร้อยละ 33 เกษตรกรส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ และอีกร้อยละ 19 ส่งจำหน่ายให้กับผู้รวบรวมรายย่อยในพื้นที่ ซึ่งผู้รวบรวมรายย่อยจะส่งต่อให้กับผู้รวบรวมรายใหญ่ต่อไป โดยผู้รวบรวมรายใหญ่จะส่งจำหน่ายแพะขุนให้กับพ่อค้าเวียดนามร้อยละ 69 ส่งจำหน่ายพ่อค้าขายส่งภาคใต้ร้อยละ 27 และส่งจำหน่าย พ่อค้าขายส่งกรุงเทพฯ และพ่อค้าขายส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 4
ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกแพะเไปยังตลาดต่างประเทศค่อนข้างชะลอตัว ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านการส่งออก ควรมีการส่งเสริมการแปรรูปเนื้อแพะเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ลูกชิ้น บาบีคิว ไส้กรอก อาหารปรุงพร้อมรับประทาน เป็นต้น เพื่อให้ง่ายต่อการบริโภค ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดเนื้อแพะ ในประเทศได้ สำหรับตลาดรับซื้อแพะรายใหญ่ คือ ประเทศจีน แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีชายแดนติดต่อกับประเทศจีนทำให้ต้องซื้อขายผ่านพ่อค้าเวียดนามที่เข้ามารับซื้อแพะในประเทศไทย เพื่อส่งไปจำหน่ายต่อยังประเทศจีน หากสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของไทยส่งออกแพะไปจำหน่ายยังประเทศจีนได้โดยตรง จะเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการค้าแพะของไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการส่งออกผ่านไปยังเวียดนามด้วย ทั้งนี้ ท่านใดที่สนใจข้อมูลเชิงลึกของผลการวิจัย ซึ่ง สศท.7 ได้ทำการศึกษาวิถีการตลาด ต้นทุนการตลาด และส่วนเหลื่อมการตลาดของแพะขุน ในพื้นที่ภาคกลางตอนบน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร. 0 5640 5005 อีเมล์ zone7@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร