สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2021 15:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณ น้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกร

ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,485 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,225 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.82

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,705 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,666 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 24,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,870 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 662 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,809 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 669 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,035 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 226 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 398 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,109 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,274 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.24 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 165 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,208 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,373 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 165 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.4955 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาส่งออกข้าวอยู่ในระดับทรงตัว โดยราคาข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 425-430 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่วงการค้าคาดว่าการที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จะระงับการนำเข้าข้าวเป็นการชั่วคราวจากเวียดนามในช่วงนี้นั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเวียดนามมากนัก เนื่องจากช่วงนี้อุปทานข้าวในตลาดภายในประเทศมีปริมาณจำกัดอยู่แล้ว ซึ่งวงการค้าคาดว่า อุปทานข้าวจะมีปริมาณจำกัดจนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูใหม่ หรือฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิต (the winter-spring crop) ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงมีนาคมของปีหน้า

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2564 คาดว่าเวียดนามมีการส่งออกข้าวประมาณ 563,000 ตัน มูลค่าประมาณ 297 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ (มกราคม-พฤศจิกายน 2564) เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.7 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 3.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และร้อยละ 7.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในระดับทรงตัวหลังจากที่ราคาปรับลดลงติดต่อกันมาสองสัปดาห์ (ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา) เนื่องจากในช่วงนี้อุปทานข้าวจากฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-sown crop) ในตลาดมีมากขึ้น ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาทรงตัวอยู่ที่ตันละ 354-360 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่มีรายงานว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบังคลาเทศได้นำเข้าข้าวไปแล้วประมาณ 800,000 ตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากอินเดีย

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อิหร่าน

สำนักประสานงานการจัดจำหน่ายและการขาย (the director general of Distribution and Sales Coordination Bureau) และองค์การการค้าของรัฐบาล (the Government Trading Corporation; GTC) ระบุว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของงบประมาณปัจจุบัน (21 มีนาคม-21 พฤศจิกายน) มีการนำเข้าข้าวประมาณ 665,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าโดยภาคเอกชนประมาณ 445,000 ตัน และที่เหลืออีกประมาณ 220,000 ตัน นำเข้าโดยหน่วยงาน GTC

ทั้งนี้ หน่วยงาน GTC เป็นกลไกที่มีบทบาทในการบังคับใช้มาตรการควบคุมตลาด และรับผิดชอบในการจัดหาสินค้าจำเป็น เช่น ข้าวสาลี ข้าว น้ำมันประกอบอาหาร และเนื้อสัตว์สำหรับสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศมีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน ทางการปากีสถานและอิหร่านได้ทำข้อตกลงกันในการแลกเปลี่ยนข้าวและ ก๊าซหุงต้ม (liquified petroleum gas; LPG) ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าว (barter deal to exchange rice and LPG) ปากีสถานจะนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อแลกกับการส่งออกข้าว ซึ่งบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding; MoU) ดังกล่าวได้มีการลงนามในระหว่างการประชุมคณะกรรมการการค้าร่วม (the Joint Trade Committee; JTC) ครั้งที่ 9 ในกรุงเตหะราน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าการแลกเปลี่ยนสินค้าจะเริ่มขึ้นระหว่างสองประเทศภายในหนึ่งหรือสองเดือนนี้

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ