ปีนี้ อากาศดี สศท.6 เผยตัวเลขพยาการณ์ ไม้ผลตะวันออก ปี 65 รอบแรก ผลผลิตรวม 4 ชนิดกว่า 1.13 ล้านตัน ‘มังคุด’ ผลผลิตพุ่ง 81%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2021 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ปีนี้ อากาศดี สศท.6 เผยตัวเลขพยาการณ์ ไม้ผลตะวันออก ปี 65 รอบแรก ผลผลิตรวม 4 ชนิดกว่า 1.13 ล้านตัน ?มังคุด? ผลผลิตพุ่ง 81%

นายชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง การจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลเอกภาพรอบที่ 1 ปี 2565 โดยล่าสุดคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้ติดตามข้อมูลการพยากรณ์ไม้ผลตะวันออก ของสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (จันทบุรี ระยอง ตราด) คาดว่าจะมีประมาณ 1,139,393 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 900,126 ตัน (เพิ่มขึ้น 239,267 ตัน หรือร้อยละ 27) เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ช่วงปลายปี 2564 เริ่มหนาวเย็นเร็ว ส่งผลต่อการออกดอกติดผลของไม้ผล ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนกันยายน 2565 ซึ่งผลผลิตจะออกชุกช่วงเดือนพฤษภาคม 2565

สำหรับเนื้อที่ยืนต้น ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 779,391 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 743,593 ไร่ (เพิ่มขึ้น 35,798 ไร่ หรือร้อยละ 5) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11 ส่วนลองกอง ลดลงร้อยละ 5 เงาะ ลดลงร้อยละ 3 และมังคุด ลดลงร้อยละ 1 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนมากขึ้น เนื้อที่ให้ผล ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 642,280 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 635,761 ไร่ (เพิ่มขึ้น 6,519 ไร่ หรือร้อยละ 1) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ส่วนลองกอง ลดลงร้อยละ 5 เงาะ ลดลงร้อยละ 2 และมังคุด ลดลงร้อยละ 1 เนื่องจากในสวนผสมเกษตรกรจะสางต้นผลไม้ทั้ง 3 ชนิดออกเพื่อปลูกทุเรียนแซมและสางออกเพื่อให้ต้นทุเรียนมีทรงพุ่มรับแสงแดดสามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มที่

ผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด คาดว่าทุเรียน มังคุด และเงาะจะเพิ่มขึ้น โดยมังคุดเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 81 เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นช่วงปลายปี 2564 และการได้พักต้นจากการไม่ออกดอกติดผลในปีที่แล้ว ทำให้ต้นมังคุดได้สะสมอาหารเต็มที่ รองลงมาทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และเงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ส่วนลองกอง ลดลงร้อยละ 9 เนื่องจากปัญหาราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และปัญหาการส่งออกของตลาดปลายทางประเทศเวียดนาม มียอดรับซื้อค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ลองกองส่วนใหญ่จะขายภายในประเทศ รวมถึงปัญหาด้านแรงงานในการตกแต่งช่อลองกองค่อนข้างหายาก ซึ่งหากไม่แต่งช่อลองกอง ช่อจะไม่สวยและจะถูกนำไปขายเป็นลองกองตกเกรด (กระซ้า) ราคาจะต่ำมาก เกษตรกรจึงมีการโค่นและสางลองกองที่ปลูกเป็นพืชแซมออกตลอดทุก ๆ ปี ด้านผลผลิตต่อไร่ ทุเรียน มังคุด และเงาะ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมังคุด เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยมีอายุต้นช่วงให้ผลผลิตสูง และมีปริมาณน้ำมีเพียงพอใช้เลี้ยงต้น ดอก ผลผลิต ประกอบกับราคาจูงใจทำให้เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลรักษามากขึ้น ส่วนลองกอง คาดว่าจะลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกเป็นพืชแซม เป็นพืชผลพลอยได้ในสวน การดูแลรักษาจะน้อยกว่าพืชอื่น และปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกลองกองเป็นพืชเดี่ยวค่อนข้างน้อย

ขณะนี้ ทุเรียน ออกดอกแล้วร้อยละ 61.52 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะเหยียดตีนหนูและเริ่มเป็นมะเขือพวง โดยทุเรียนพันธุ์เบา จะเริ่มติดดอกช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 และทุเรียนพันธุ์กระดุมและพันธุ์หมอนทองที่ใช้สารกระตุ้นการออกดอก จะเริ่มทยอย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ซึ่งผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงปลายเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม 2565 เงาะ ยังออกดอกน้อยมากร้อยละ 0.25 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะเตรียมใบและเริ่มตั้งช่อดอก เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม 2565 ผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน 2565 โดยเดือนมีนาคมผลผลิตเงาะสีทองของจังหวัดตราดจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าทุกพื้นที่ มังคุด ออกดอกแล้วเล็กน้อยร้อยละ 1.15 ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะเตรียมใบ คาดว่ามังคุดจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เล็กน้อยตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไปและจะเก็บเกี่ยวได้มากช่วงปลายเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงกลางเดือนมิถุนายน 2565 และลองกอง ยังออกดอกน้อยมากร้อยละ 0.50 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะเตรียมต้น เตรียมใบ ลองกองสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปีหากต้นสมบูรณ์ โดยจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงปลายเดือนกันยายน 2565 และผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2565

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เน้นการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้ออย่างรวดเร็ว ด้วยช่องทางการค้าออนไลน์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักด้านการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP ส่วนกระทรวงพาณิชย์หน่วยงานหลักด้านตลาด จะสนับสนุนการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้มีความคล่องตัว ผลักดันการส่งออก การเปิดตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางสมัยใหม่สอดคล้องกับ Thailand 4.0 โดยกระตุ้นการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น ในส่วนของการบริหารจัดการช่วงสถานการณ์โควิด กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี ซึ่งดูแลในเรื่องการผลิตสินค้าแบบ GAP เน้นสินค้าคุณภาพ มีการควบคุมการผลิตตามมาตรฐานการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ มีการตรวจแหล่งที่ปลูกของเกษตรกรและการตรวจล้งส่งออกเพื่อให้มีมาตรฐานการป้องกันเชื้อโควิด มีการป้องกันพนักงานคัดบรรจุและอาคารสถานที่คัดบรรจุได้มาตรฐานตามหลัก GMP โดยมีการสุ่มตรวจจากประเทศผู้นำเข้าจากจีนตั้งแต่ก่อนจะมีการส่งสินค้าเข้าประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม สศท.6 จะติดตามรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในครั้งที่ 2 ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และมีกำหนดลงพื้นที่ติดตามสำรวจข้อมูลสถานการณ์การออกดอก ติดผล และเก็บเกี่ยวผลผลิตจริงกับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 เพื่อใช้ข้อมูลวางแผนบริหารจัดการผลไม้ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกต่อไป สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออกเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 ชลบุรี โทร 0 3835 2435 หรืออีเมล zone6@oae.go.th

*********************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ