นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เปิดเผยถึง ผลการประชุมคณะกรรมการลดต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม กรมปศุสัตว์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พร้อมทั้งผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมการค้าภายใน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมถึงผู้แทนจากภาคเอกชน อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านดินและปุ๋ย
ในการนี้ ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์ปุ๋ยเคมีภายในประเทศ พบว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยราคาปุ๋ยในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาแม่ปุ๋ยในตลาดโลก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยสำคัญจำกัดการส่งออก ส่งผลให้วัตถุดิบหรือแม่ปุ๋ยในตลาดโลกขาดแคลน ประกอบกับผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด - 19 ที่ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์และค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพภายใต้แผนการบริหารจัดการปุ๋ยปี 2565-2569 ที่เสนอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการวางมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้มีความต่อเนื่อง มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ ทั่วถึง และใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ภาคเกษตรไทยมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงทางอาหาร
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เช่น โครงการบริหารจัดการปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โครงการพัฒนาธุรกิจดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โครงการลดราคาปุ๋ย (ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์) การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยทางเลือก เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ มาตรการแก้ไขปัญหาระยะกลาง ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยโพแทชภายในประเทศ รวมถึงการเจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับประเทศมาเลเซียและอื่น ๆ และมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ย การเจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ร่วมกับประเทศมาเลเซียและจีน ในฐานะผู้ผลิตแม่ปุ๋ยหลักในภูมิภาค ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพขึ้นหารือในระดับกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแผนการดำเนินงานทั้งระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินการร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งในระยะที่ 1 มีสินค้ายางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และมะเขือเทศ มีกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่เข้าร่วม 56 แปลง ในพื้นที่ 49,102 ไร่ เกษตรกร 2,457 ราย และอยู่ระหว่างขยายการดำเนินการในระยะที่ 2 ในสินค้า 8 ชนิด ได้แก่ พืชผัก ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยมีบริษัทรับซื้อที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 18 บริษัท มีแผนดำเนินการในพื้นที่ 1.9 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 120,000 ราย
**************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร