นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. มีภารกิจสำคัญในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพหลัก บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยในปีงบประมาณ 2565 สศก. ได้รับจัดสรรงบประมาณ 3.3454 ล้านบาท เพื่อติดตามโครงการภายใต้แผนงานดังกล่าว
สำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เป็นการดำเนินงานบูรณาการร่วมกันระหว่าง 6 กระทรวง 19 หน่วยงาน 1 หน่วยงานอื่นของรัฐ มีความเชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้วยเป้าหมาย ?รายได้เฉลี่ยของประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ต่อปี? ดำเนินการใน 3 แนวทาง พร้อมกำหนดเป้าหมายของทั้งแผนงานฯ ดังนี้ แนวทางที่ 1 พัฒนาศักยภาพประชาชน ดำเนินการสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต และส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ตัวชี้วัดแนวทาง ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งทุนและที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 180,000 ราย ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพไม่น้อยกว่า 130,000 ราย แนวทางที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุมชน ดำเนินการพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่ม ผู้ประกอบการ และผลิตภัณฑ์ ตัวชี้วัดแนวทาง จำนวนสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 500 กลุ่ม จำนวนผู้ประกอบการชุมชนได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 3,000 ราย และจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 4,600 ผลิตภัณฑ์ และ แนวทางที่ 3 พัฒนาระบบการบริหารจัดการและกลไกการตลาด ดำเนินการพัฒนาระบบตลาด พัฒนากลไก อาทิ สหกรณ์ ร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน และการติดตามประเมินผล ให้รายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6
การติดตามผลการดำเนินงาน สศก. จะติดตามแบบรายไตรมาส โดยผ่านระบบประเมินผลและติดตามโครงการ เชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการติดตามเชิงลึกในพื้นที่ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ช่วงกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2565 และ ครั้งที่ 2 ช่วงกรกฎาคม - สิงหาคม 2565 เน้นการติดตามกระบวนการทำงาน กิจกรรม ผลผลิต ผลลัพธ์เบื้องต้น ความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงาน โดยได้จัดทำแผนรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยนำเทคโนโลยีเข้าร่วมใช้ในการติดตาม ทั้งการจัดประชุมผ่านแอพพลิเคชัน Zoom หรือ Line Meeting การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ เช่น Google form หรือ Microsoft form โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การส่งแบบสอบถามตอบกลับทาง Line Email และไปรษณีย์
เบื้องต้นจากการติดตามผลในไตรมาสที่ 1 (ตุลาคม ? ธันวาคม 2564) พบว่า แนวทางที่ 1 ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งเงินทุนและที่ดินทำกินแล้ว 1,617 ราย (ร้อยละ 0.90 ของเป้าหมาย) และได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องและเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer รวมทั้ง จัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบล และพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยการปลูกไผ่เชิงเศรษฐกิจ รวม 11,566 ราย (ร้อยละ 8.90 ของเป้าหมาย) แนวทางที่ 2 สามารถพัฒนาสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนโดยพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร ให้มีความรู้ ทักษะความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ทั้งการผลิต การเพิ่มมูลค่า การบริการ และการตลาด 125 กลุ่ม (ร้อยละ 25 ของเป้าหมาย)พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน โดยการยกระดับคุณภาพสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน 5 ผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 0.11 ของเป้าหมาย) และแนวทางที่ 3 สามารถพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยภาคีเครือข่ายโดยการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาด 15,441 ครั้ง (ร้อยละ 19.30 ของเป้าหมาย)
?สำหรับผลการติดตามและประเมินผลแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก รวมไปถึงผลการดำเนินงานโครงการสำคัญต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์ประเมินผล มีการเผยแพร่ข้อมูลรายไตรมาสในรูปแบบ Infographic และรูปเล่มรายงานในรอบ 6 เดือน และ 12 เดือน นอกจากนี้ ทุกท่านยังสามารถติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้เพิ่มเติม ทั้งเว็บไซต์ www.eva.oae.go.th Facebook : ศูนย์ประเมินผล สศก. CPPE OAE และ ช่องทาง Line : ศูนย์ประเมินผล สศก. ตลอดจน IG : cppe_oae? รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร