สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 14, 2022 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณ น้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพโดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,486 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,256 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.04

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,084 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,964 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.52 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 25,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,510 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,870 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.80 3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 758 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,699 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 756 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,816 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 117 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,011 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 438 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,377 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.83 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 366 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,816 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,279 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.53 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 463 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.5838 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ศรีลังกา

รัฐบาลศรีลังกาวางแผนนำเข้าข้าว 400,000 ตัน เพื่อเพิ่มอุปทาน รับมือราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศหนังสือพิมพ์เดลีนิวส์ อ้างถึง นายอิลมา ดาฮานายาเค เลขาธิการสมทบกระทรวงการค้าศรีลังกา คาดการณ์ว่า ศรีลังกาจะนำเข้าข้าวจากอินเดียมากถึง 300,000 ตัน และจากเมียนมา 100,000 ตัน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวสูงเกินจริงที่มีต้นเหตุมาจากโรงสีข้าวขนาดใหญ่หลายแห่ง

นายดาฮานายาเค เผยว่า ศรีลังกามีแผนนำเข้าข้าวครั้งละ 20,000 ตัน ในราคาตันละ 445 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,700 บาท) ผ่านบริษัท ศรีลังกา เสตต เทรดดิง (เจเนอรัล) คอร์เปอเรชั่น (Sri Lanka State Trading (General) Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าของรัฐ

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ขอให้ธนาคารกลางออกอัตราแลกเปลี่ยนที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าข้าว ซึ่งโดยปกติแล้วการนำเข้าข้าวในศรีลังกามักถูกจำกัดให้มีปริมาณเพียงเล็กน้อยดัชนีราคาผู้บริโภคโคลัมโบ (Colombo Consumer Price Index) ชี้ให้เห็นว่า ในเดือนมกราคมภาวะราคาอาหารของศรีลังกาสูงขึ้นร้อยละ 25 โดยมีปัจจัยจากการขาดแคลนอุปทานอันเป็นผลพวงจากสภาพอากาศเลวร้ายการคลาดแคลนปุ๋ย ตลอดจนราคานำเข้าที่ปรับสูงขึ้น อนึ่ง หนังสือพิมพ์ฯ ได้ระบุว่า ในแต่ละปีคนศรีลังกาบริโภคข้าวประมาณ 2.1 ล้านตัน

ที่มา xinhuathai.com

ฟิลิปปินส์

สำนักงานอุตสาหกรรมพืช (the Bureau of Plant Industry; BPI) รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2565 ภาคเอกชน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ผู้ค้าข้าว และบริษัทต่างๆ มีการนำเข้าข้าวมากกว่า 240,000 ตัน โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-27 มกราคม ตัวเลขการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 247,362.437 ตัน จากใบอนุญาตสุขอนามัยพืช [the sanitary and phytosanitary import clearances (SPS-ICs)] จำนวน 362 ใบ ที่ได้ออกให้แก่ผู้ยื่นขอนำเข้าข้าว จำนวน 54 ราย

โดยแหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญยังคงเป็นประเทศเวียดนาม มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 83 ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมด คิดเป็นจำนวนประมาณ 205,192.302 ตัน ตามด้วยประเทศเมียนมาจำนวน 21,320 ตัน ประเทศไทยจำนวน 12,765 ตัน และจีนจำนวน 2,355.135 ตัน ทั้งนี้ ผู้นำเข้ารายสำคัญในเดือนมกราคม 2565 ได้แก่ Mutya Ricemill ซึ่งขอนำเข้าจำนวน 18,841 ตัน ตามด้วย Bestow Industries Inc. จำนวน 17,415 ตัน

ในปี 2564 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวประมาณ 2.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งถือเป็นปริมาณนำเข้าข้าวมากที่สุด โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศเวียดนามประมาณ 2.36 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 85 ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับปี 2563

สำนักข่าวฟิลิปปินส์ (the Philippine News Agency; PNA) รายงานว่า ในปี 2564 การผลิตข้าวเปลือกของฟิลิปปินส์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการลงทุนในโครงการข้าวด้านต่างๆ การจัดหาข้าวเปลือก และการจัดระบบชลประทานที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ รัฐมนตรีเกษตรฯ รายงานว่ารัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวน 15 พันล้านเปโซ (ประมาณ 292 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับโครงการข้าวแห่งชาติ (the national rice program; NRP) และโครงการสร้างความยืดหยุ่นของสินค้าข้าว (rice resiliency; RRP) ใช้งบประมาณจำนวน 10 พันล้านเปโซ (ประมาณ 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับกองทุนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันข้าว (the Rice Competitiveness Enhancement Fund; RCEF) ใช้งบประมาณจำนวน 7 พันล้านเปโซ (ประมาณ 136 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับองค์การอาหารแห่งชาติ (the National Food Authority NFA) และงบประมาณจำนวน 30 พันล้านเปโซ (ประมาณ 584 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับสำนักงานชลประทานแห่งชาติ (the National Irrigation Administration; NIA ผู้อำนวยการโครงการบูรณาการด้านข้าวของฟิลิปปินส์ (the Director of the Philippine Integrated Rice Program; PIRP) ระบุว่า การใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงที่ทันสมัย การใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรมากขึ้น การฝึกอบรม การให้บริการด้านสินเชื่อและการตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและข้าวโพดมีปริมาณผลผลิตที่มากขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ได้

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สอง เนื่องจากผู้ซื้อเปลี่ยนไปซื้อข้าวจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่า เช่น เมียนมา ปากีสถาน ส่งผลให้ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 370-376 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากตันละ 372-379 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาวงการค้ารายงานว่า ขณะนี้ยังคงมีปัญหาด้านการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟภายในประเทศ (Freight train) ซึ่งส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดค่อนข้างตึงตัว และทำให้การส่งมอบข้าวตามที่ได้มีการทำสัญญาไว้ก่อนหน้านี้ต้องประสบกับปัญหาการส่งมอบล่าช้ากว่ากำหนด

มีรายงานว่า ในปีงบประมาณ 2564/65 รัฐบาลอินเดียมีแผนที่จะจัดหาข้าวสาลีและข้าวเปลือกจำนวน 120.8 ล้านตัน โดยได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2.37 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 31.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเกษตรกรจำนวนประมาณ 16.3 ล้านราย

ทั้งนี้ รัฐบาลมีโครงการจัดหาข้าวและข้าวสาลีจากเกษตรกรในราคาที่รับประกันและนำออกมาขายให้กับ ประชาชนผู้ยากไร้ในราคาอุดหนุนภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ (the National Food Security Act) ที่ผ่านมา มีรายงานว่า รัฐบาลอินเดียกำลังวางแผนที่จะเสนอขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาลสำหรับผู้ผลิตเอทานอลในราคาที่รัฐบาลให้การอุดหนุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดสต็อกข้าวที่ยังคงอยู่ระดับสูง

ในปัจจุบัน โดยคาดว่ารัฐบาลจะลดสต็อกข้าวลงประมาณ 10 ล้านตันทั้งนี้ ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 สต็อกข้าวขององค์การอาหารแห่งชาติ (Food Corporation of India; FCI) มีประมาณ 53.8 ล้านตัน ซึ่งมีมากกว่าระดับปกติที่ 7.61 ล้านตัน ประมาณ 7 เท่า และคาดว่ารัฐบาลจะมีการนำข้าวไปใช้ประมาณ 28 ล้านตัน เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ (NFSA) และมีแนวโน้มที่จะเสนอขายข้าวจากสต็อกสำหรับบผู้ผลิตเอทานอลต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้าจากรายงานของทางการอินเดีย คาดว่าผู้ผลิตเอทานอลจะใช้ข้าวประมาณ 10-11 ล้านตัน เพื่อผลิตเอทานอลประมาณ 4,400-4,800 ล้านลิตรกระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกร (Ministry of Agriculture & Farmers Welfare) แถลงว่ารัฐบาลอินเดียได้ประกาศราคาอุดหนุนขั้นต่ำ (Minimum Support Prices; MSP) สำหรับสินค้าเกษตรหลักจำนวน 22 ชนิดที่มีคุณภาพเฉลี่ยในระดับปานกลาง (Fair Average Quality; FAQ) ในฤดูกาลเพาะปลูก หลังจากที่มีการพิจารณา ตามคำแนะนำของคณะกรรมการต้นทุนและราคาสินค้าเกษตร (Commission for Agricultural Costs and Prices; CACP) แล้ว

โดยรัฐบาลประกาศราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) สำหรับฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-กันยายน) ปี 2021/22 (ตุลาคม 2021-กันยายน 2022) ซึ่งรัฐบาลได้ประเมินต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในปี 2021/22 (2564/65) เฉลี่ยอยู่ที่ 1,293 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณตันละ 177 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ดังนั้น เพื่อให้ เกษตรกรมีผลกำไรประมาณร้อยละ 50 จากการเพาะปลูกข้าว รัฐบาลจึงกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำสำหรับข้าวคุณภาพ ธรรมดาไว้ที่ 1,940 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณตันละ 260 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้น 72 รูปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.85 จาก 1,868 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณตันละ 247 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2020/21 (2563/64)

ขณะที่ข้าวคุณภาพดี (Grade ?A? paddy) กำหนดไว้ที่ 1,960 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณตันละ 262 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้น 72 รูปีหรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.8 จาก 1,888 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณตันละ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2020/21 (2563/64)

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ