นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงการติดตามโครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักดำเนินการ โดยโครงการดังกล่าว เป็นการน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่แสดงการผลิตด้านการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนกรมโยธาธิการและผังเมืองและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จากการติดตามการดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งโครงการฯ เปิดรับสมัครข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่สนใจเข้าร่วม จำนวน 60 ราย ณ พื้นที่ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พบว่า หน่วยงานต่างๆ ร่วมพัฒนาพื้นที่ อาทิ กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี จัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าว กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี จัดทำแหล่งเรียนรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี จัดทำแปลงสาธิต/แปลงเรียนรู้ ด้านการเพาะเห็ด กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี จัดทำแปลงผักในโรงเรือนกางมุ้ง และพืชผัก ตลอดจนร่วมกันดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร ต่างๆ อาทิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และการจัดทำบัญชีในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ และสนับสนุนปัจจัยต่างๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท 1 พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล 1,000 ตัว พันธุ์ปลาตะเพียน 2,400 ตัว ก้อนเชื้อเห็ด 6,000 ก้อน และพันธุ์พืชพันธุ์ผัก
การดำเนินโครงการฯ ได้จัดสรรพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเนื้อที่ 15 ไร่ ของค่ายนเรศวร แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรประมาณ 8 ไร่ ที่เหลือประมาณ 7 ไร่ เป็นศูนย์กระจายสินค้า ร้านขายของ ร้านอาหาร โดยพื้นที่ทำการเกษตร 8 ไร่ แบ่งเป็น ด้านแหล่งน้ำ เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล 1.4 ไร่ ด้านปศุสัตว์ จัดทำโรงเรือนเลี้ยงไก่สาวพันธุ์เล็กฮอร์นไว้บริโภคไข่ไก่ 1 ไร่ และด้านเพาะปลูก ปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ประมาณ 1 ไร่ ปลูกไม้ผล อาทิ มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่ ส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง เมล่อน และกล้วย ทำแปลงปลูกผักสวนครัว ผักสลัด มะนาว เห็ดนางฟ้าภูฐาน ผักกางมุ้ง ประมาณ 4.6 ไร่ โดยภาพรวมผลผลิตเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ แต่ยังคงประสบปัญหาด้านสภาพของดินที่ยังเป็นกรดอยู่บ้าง ทั้งนี้ ผลผลิตที่ได้ มีการจำหน่ายและนำรายได้เข้ากองสวัสดิการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็นและปันผลให้กับสมาชิกโครงการฯ
?ภายหลังเข้าร่วมโครงการฯ ส่งผลให้ข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่เข้าร่วม สามารถนำความรู้ด้านการเกษตร หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ต่อยอดในพื้นที่บ้านพักส่วนตัวได้ ซึ่งช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนลง 3,797 บาทต่อปี จากการบริโภคสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ อีกทั้งยังสามารถนำสินค้าเกษตรที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนไปจำหน่ายให้กับเพื่อนข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนด้วยกัน ทำให้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,157 บาทต่อปี นอกจากนี้ ข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 95 ยังมีความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทำประมง การปรับปรุงบำรุงดิน การทำเกษตรแบบอินทรีย์ และการทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน ครอบครัว สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน และในอนาคตทางโครงการฯ มีแผนที่จะขยายผลโครงการไปยังเกษตรกรโดยรอบด้วยเช่นกัน? รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2565 โครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จะขยายผลไปยังข้าราชการตำรวจในพื้นที่ค่ายนเรศวรเพิ่มเติม รวมทั้งขยายองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโครงการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการส่งเสริมการทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนปัจจัยการผลิต เพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน ด้านการผลิตและการแปรรูปผลผลิต รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการขยายผลโครงการอย่างต่อเนื่อง
*****************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร