สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2022 14:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 กุมภาพันธ์ 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,413 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,405 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.07

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,834 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,884 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 25,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,210 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.93 3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 784 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,117 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 787 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,242 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 125 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,488 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,856 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.78 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 368 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,488 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,856 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.78 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 368 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1132 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผลผลิต 510.305 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 507.458 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2563/64 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56 2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีปริมาณผลผลิต 510.305 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.56 การใช้ในประเทศ 510.399 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.52 การส่งออก/นำเข้า 50.947 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.37 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 186.329 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.05

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล กายานา ปากีสถาน ไทย อุรุกวัย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา เมียนมา กัมพูชา จีน อียู อินเดีย ปารากวัย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อียู อิหร่าน ญี่ปุ่น เคนย่า มาดากัสการ์ เม็กซิโก เนปาล ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล จีน กินี อิรัก ฟิลิปปินส์ และเซเนกัลประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะการค้ากลับมาคึกคักมากขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ขึ้นมาอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 395 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน (นับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2564)

วงการค้าข้าวระบุว่า ความต้องการข้าวจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากผ่านพ้นช่วงวันหยุดติดต่อกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับมีการประมูลข้าวของเกาหลีใต้ ซึ่งระบุที่จะซื้อข้าวจากเวียดนาม ประมาณ 27,791 ตัน ขณะที่ผู้ค้าข้าวกำลังเตรียมการซื้อข้าวฤดูใหม่จากเกษตรกร โดยคาดว่าผลผลิตข้าวฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the main winter-spring harvest) จะออกสู่ตลาดสูงสุดในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2565

กรมศุลกากรเวียดนาม (the Customs Department) รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2565 เวียดนาม ส่งออกข้าวได้ประมาณ 505,741 ตัน มูลค่าประมาณ 246.024 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 486.5 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.42 และร้อยละ 28.22 แต่ราคาส่งออกเฉลี่ยลดลงร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนมกราคม 2564 เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 347,774 ตัน มูลค่าประมาณ 191.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 551.7 เหรียญสหรัฐต่อตัน) แต่ถ้าเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 2.79 และราคาส่งออกเฉลี่ยลดลงร้อยละ 5.8 (เดือน ธันวาคม 2564 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 490,219 ตัน มูลค่าประมาณ 253.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 516.3 เหรียญสหรัฐต่อตัน) ทั้งนี้ ชนิดข้าวที่เวียดนามส่งออกในเดือนมกราคม 2565 ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์ OM5451 ประมาณร้อยละ 23.23 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็นข้าวพันธุ์ DT8 ประมาณร้อยละ 17.78 ข้าวขาว 15% ประมาณร้อยละ 9.27 ข้าวเหนียวประมาณร้อยละ 7.6 ข้าวหอม Jasmine ประมาณร้อยละ 6.39 และข้าวพันธุ์อื่นๆ ประมาณร้อยละ 35.73 ตลาดสำคัญในเดือนมกราคม 2565 ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเวียดนามส่งออกประมาณ 234,050 ตัน มูลค่า ประมาณ 110.207 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.78 และร้อยละ 20.61 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 46.28 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด และร้อยละ 44.8 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด) รองลงมาคือ ประเทศไอวอรี่โคสต์ประมาณ 59,675 ตัน มูลค่าประมาณ 23.383 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 424.06 และร้อยละ 252.49 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 11.8 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และร้อยละ 9.5 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด) และประเทศจีนประมาณ 37,006 ตัน มูลค่า ประมาณ 18.988 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่า ลดลงร้อยละ 36.03 และร้อยละ 36.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 7.32 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และร้อยละ 7.72 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด

ทั้งนี้ ในปี 2564 (มกราคม-ธันวาคม 2564) เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ปริมาณ 6,237,311 ตัน มูลค่า ประมาณ 3,285.628 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 526.8 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยปริมาณ ลดลงร้อยละ 0.2 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

ตลาดสำคัญที่เวียดนามส่งออกข้าวในปี 2564 (มกราคม-ธันวาคม 2564) ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ ส่งออกประมาณ 2,454,882 ตัน มูลค่าประมาณ 1,251.166 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.65 และร้อยละ 18.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 39.36 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด และร้อยละ 38.08 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด) รองลงมาคือ ประเทศจีนประมาณ 1,058,800 ตัน มูลค่าประมาณ 522.724 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.58 และร้อยละ 12.89 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 16.98 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และร้อยละ 15.91 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด) และประเทศกาน่าประมาณ 678,478 ตัน มูลค่าประมาณ 393.628 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.84 และร้อยละ 39.44 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 10.88 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และร้อยละ 11.98 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด)

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ( The National Development and Reform Commission; NDRC) ได้ปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำ (the minimum purchase prices; MPP) สำหรับปีการผลิต 2564/65 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ โดยข้าวพันธุ์อินดิกาต้นฤดู (early-season indica rice paddy) กำหนดไว้ที่ 2,480 หยวนต่อตัน (ประมาณ 392 เหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจาก 2,440 หยวนต่อตัน (ประมาณ 378 เหรียญสหรัฐฯ) ในปี 2564 ขณะที่ข้าวพันธุ์อินดิกากลางและปลายฤดู (mid-late indica rice paddy) กำหนดไว้ที่ 2,580 หยวนต่อตัน (ประมาณ 407 เหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจาก 2,560 หยวนต่อตัน (ประมาณ 397 เหรียญสหรัฐฯ) ในปี 2564 สำหรับข้าวพันธุ์จาปอนิกา (the high-quality japonica paddy prices) กำหนดไว้ที่ 2,620 หยวนต่อตัน (ประมาณ 413 เหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจาก 2,600 หยวนต่อตัน (ประมาณ 403 เหรียญสหรัฐฯ) ในปี 2564

ขณะที่สำนักงานอาหารและปัจจัยสำรองแห่งชาติ (The National Food and Strategic Reserves Administration) รายงานว่า ในปี 2565 รัฐบาลยังคงตั้งเป้าจัดหาข้าวไว้จำนวน 50 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้น (short-grain rice/japonica) จำนวน 30 ล้านตัน และข้าวเมล็ดยาว (long-grain rice/indica) จำนวน 20 ล้านตัน ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้มีการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ โดยคณะทำงานของรัฐบาลระบุว่า ภูมิภาคที่มีสภาพการเจริญเติบโตที่ดีควรฟื้นฟูการปลูกข้าวสองครั้ง (double-cropping of rice) และควรขยายพื้นที่ปลูกข้าวที่ปลูกในช่วงต้นฤดู (early crop)

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ