สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 14, 2022 14:46 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 7 - 13 มีนาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณ น้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,638 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,502 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.18

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,845 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,601 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.21 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 25,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,610 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,170 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.62 3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.8103 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการ เปิดจุดผ่านแดนที่ไปยังประเทศจีนอีกครั้ง ขณะที่ผู้ซื้อบางส่วนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซียและยูเครน จึงได้มีการสั่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 395-400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน (นับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2564) The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่า ช่วงระหว่างวันที่ 1-9 มีนาคม 2565 จะมีเรือบรรทุกสินค้า (breakbulk ships) อย่างน้อย 7 ลำ เข้ามารอรับสินค้าข้าวที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City (HCMC) Port เพื่อรับมอบข้าวประมาณ 166,950 ตัน

ข้อมูลจากกรมศุลกากรของเวียดนาม (Vietnam Customs) รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 468,925 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 52.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกจำนวน 308,472 ตัน ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565) เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 974,556 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 49.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกจำนวน 656,045 ตัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2565 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 499,145 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 0.37 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 ที่ส่งออกจำนวน 500,994 ตัน แต่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 41.98 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 ที่ส่งออกจำนวน 341,546 ตัน

โดยในเดือนมกราคม 2565 ชนิดข้าวที่เวียดนามส่งออก ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 176,609 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 815 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 37,365 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 21,240 ตัน ปลายข้าวขาว จำนวน 10,295 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 24,686 ตัน ข้าวหอม จำนวน 210,099 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 18,035 ตัน โดยส่งไปยังตลาดในภูมิภาคต่างๆ ดังนี้

1. ตลาดเอเชีย จำนวน 354,472 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 139,623 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน741 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 36,440 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 20,968 ตัน ปลายข้าวขาวจำนวน 7,122 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 23,985 ตัน ข้าวหอมจำนวน 117,541 ตัน และข้าวอื่นๆจำนวน 8,051 ตัน

2. ตลาดแอฟริกา จำนวน 82,693 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 4,934 ตัน ปลายข้าวขาว จำนวน 2,998 ตัน ข้าวหอม จำนวน 74,314 ตนั และข้าวอื่นๆ จำนวน 446 ตัน

3. ตลาดยุโรป จำนวน 10,994 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 1,256 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 545 ตัน ข้าวหอม จำนวน 7,199 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน2,074 ตัน

4. ตลาดอเมริกา จำนวน 33,702 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 30,506 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 272 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 26 ตัน ข้าวหอมจำนวน 2,721 ตัน และข้าวอื่นๆจำนวน 177 ตัน

5. ตลาดโอเชียเนีย จำนวน17,285 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 289 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 74 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 925 ตัน ปลายข้าวขาว จำนวน 175 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 130 ตัน ข้าวหอม จำนวน 210,099 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 18,035 ตัน

สำนักงานสถิติของเวียดนาม (the Vietnam General Statistics Office) รายงานว่า ณ ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เกษตรกรของเวียดนามได้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (winter-spring rice) แล้วประมาณ 16.49 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยจังหวัดทางภาคเหนือมีการปลูกข้าวฤดูนี้แล้วประมาณ 4.63 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะที่จังหวัดทางภาคใต้มีการปลูกข้าวฤดูนี้ไปแล้วประมาณ 11.86 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 0.4เมื่อเทียบกับปี 2564

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างข้อมูลของหน่วยงานสถิติแห่งชาติ (the country's statistics bureau) ว่า ในปี 2564 อินโดนีเซียสามารถผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 54.42 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 0.43 เมื่อเทียบกับปี 2563

ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีการเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 65.06 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวบางส่วนประสบกับภัยธรรมชาติ โดยในปี 2564 รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายผลผลิตข้าวเปลือกไว้ที่ 58.5 ล้านตัน ดังนั้นผลผลิตที่ได้จึงต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ประมาณ 4.08 ล้านตัน ขณะที่สำนักสถิติแห่งชาติได้ประมาณการณ์ว่า ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 จะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 25.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อิหร่าน

สำนักข่าว BNE IntelliNews รายงานโดยอ้างถึงศูนย์สถิติแห่งอิหร่าน (the Statistical Center of Iran; SCI) ว่า ในปี 2564 ภาวะราคาข้าวของอิหร่านเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 95 และในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ราคาข้าวในอิหร่านปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 20 จากเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นผลจากการที่ผลิตข้าวในประเทศลดลง เนื่องจากภัยแล้ง ส่งผลให้มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นตามมา ขณะที่ราคาอาหารในอิหร่านสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการที่ร้อยละ 42

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน รายงานว่า การเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลอิหร่านชุดใหม่ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอิบรอฮิม ไรซี่ ในช่วงระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา นับว่าเป็นช่วงเวลาที่อิหร่านประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยอัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้ากว่า 84,000 รายการ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นรายวันในอัตราเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 60-200 ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า ขณะเดียวกันปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกดดันของมาตรการคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปัจจัยภายนอกและภายในอื่นๆ ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจอิหร่านประสบภาวะถดถอยและฝืดเคืองขึ้นเป็นทวีคูณ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีรายได้ลดลง ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นให้แก่ประชากรรายได้น้อยที่มีจำนวนกว่า 29 ล้านคน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกรายการนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าว

รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวราคาถูกจากต่างประเทศมาจำหน่ายในราคาอุดหนุนให้แก่ผู้บริโภคเหล่านี้ รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าว น้ำมันพืช แป้งข้าวสาลี น้ำตาลทราย และเนย เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจะนำเข้าเพื่อกระจายไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถซื้อหาสินค้ามาบริโภคในชีวิตประจำวันได้ในราคาที่เหมาะสมตามโควต้าที่รัฐบาลจัดสรรไว้ซึ่งถือเป็นการรักษาสมดุลสินค้าด้านปริมาณ และควบคุมราคาสินค้าในตลาดอีกทางหนึ่งด้วย

จากข้อมูลรายงานล่าสุดของสื่อท้องถิ่น Iranian News Agency (IRNA) พบว่าภายหลังการเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนสิงหาคม 2564 รัฐบาลอิหร่านได้อนุญาตให้นำเข้าข้าวราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนนี้ เป็นข้าวจากประเทศไทย จำนวน 37,500 ตัน ซึ่งถือเป็นข้าวล็อตแรกที่นำเข้าจากไทยของรัฐบบาลชุดใหม่ ซึ่งปัจจุบันสินค้าได้ขนส่งมาถึงท่าเรือเมือง Bushehr ของอิหร่านแล้ว และกำลังอยู่ระหว่าการขนถ่ายและกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆของประทศ

ทั้งนี้ สื่อดังกล่าวแจ้งว่า การนำเข้าข้าวล็อตนี้จากไทยเป็นการนำเข้าเพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยและปานกลางให้สามารถซื้อหาข้าวมาบริโภคในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้นำข้าวจากไทยที่อยู่ในโกดังสำรองออกมาจำหน่ายหมดแล้ว ทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มอย่างเร่งด่วนให้ทันต่อการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2565 รวมไปถึงเทศกาลถือศีลอดซึ่งในปี 2565 จะตรงกับช่วงเดือนเมษายน โดยข้าวที่อิหร่านนำเข้าล็อตนี้เป็นข้าวขาวเกรด B บรรจุถุงๆ ละ 10 กิโลกรัม จำหน่ายในราคาอุดหนุนของรัฐบาล ราคาถุงละ 1,250,000 เรียล (ประมาณ 160 บาท ซึ่งตามปกติข้าวนำเข้าจากไทยจะมีราคาประมาณ 1.5 เหรียญสหรัญฯ หรือประมาณ 48 บาทต่อ 1 กิโลกรัม หรือ 480 บาทต่อ10 กิโลกรัม) ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 อิหร่านนำเข้าข้าวจากไทยแล้วมูลค่า 24,857,904 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 795,245,928 บาท

ท่าเรือเมือง Bushehr ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน ถือเป็นท่าเรือขนาดใหญ่และมีความสำคัญที่สุดของอิหร่านในการนำเข้า-ส่งออก และขนถ่ายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเอเชียกลางรวมถึงเอเชียไกล และแอฟริกาใต้ เป็นท่าเรือที่มีพรมแดนใกล้กับประเทศในอ่าวเปอร์เซีย เช่น กาตาร์ บาห์เรน คูเวต และซาอุดีอาระเบีย มีศักยภาพในการรองรับสินค้ากว่า 8 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2565 รัฐสภาอิหร่านอนุมัติให้จังหวัด Bushehr ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือดังกล่าว เป็นเขตการค้าเสรีทั้งจังหวัด

ที่ผ่านมา ในปี 2564 อิหร่านนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยผ่านท่าเรือเมือง Bushehr คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,487,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 79.5 ล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวก ยางพารา ตาข่ายจับปลา ยางรถยนต์ และน้ำผลไม้เข้มข้น เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลอิหร่านมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวราคาถูกจากต่างประเทศมาจำหน่ายให้แก่ประชาชน ในช่วงเทศกาลสำคัญฯ ซึ่งมีปริมาณความต้องการการบริโภคข้าวสูง ถึงแม้ว่ารัฐบาลพยายามจะเข้าควบคุมราคาข้าว แต่ข้าวที่มีขายในตลาดยังคงขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวที่ผลิตในประเทศที่มีปริมาณน้อยและขายอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 1 ล้านเรียล (128 บาท) เป็นอย่างต่ำ ทำให้ชาวอิหร่านเริ่มหันมาบริโภคข้าวนำเข้าแทน ดังนั้น จึงคาดว่าในปีงบประมาณใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป อิหร่านจะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการนำเข้าจากไทยด้วย โดยปัจจุบันกำลังมีการเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ระหว่างผู้นำเข้าอิหร่านกับผู้ส่งออกข้าวไทยอย่างน้อย 3 ราย

โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน รายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ราคาข้าวในตลาดอิหร่านได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบรายเดือน ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลอิหร่านได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่มีจำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีความอ่อนไหวต่อผู้บริโภคภายในประเทศเป็นอย่างมาก ข้าวถือเป็นอาหารหลักที่ชาวอิหร่าน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ซึ่งคาดว่ามีจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของประชากร สำหรับปัจจุบันข้าวที่มีวางจำหน่ายในตลาดอิหร่านมีที่มาจากสองแหล่งหลัก คือ 1) ข้าวที่ผลิตในประเทศ เฉลี่ยปีละประมาณ 2.5 ล้านตัน และ 2) ข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการค้าระหว่างประเทศของอิหร่าน จะเป็นผู้กำหนดปริมาณโควต้าการนำเข้าข้าวในแต่ละปี ก่อนมอบหมายให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างของรัฐหรือที่รู้จักกันในนามว่าหน่วยงาน GTC (Government Trading Corporation ) ของอิหร่าน ที่เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของกระทรวงเกษตรจีฮัด (Ministry of Agriculture Jihad) เป็นผู้ออกใบอนุญาตนำเข้า และมอบหมายบริษัทตัวแทนนำเข้าต่อไป

ทั้งนี้ ผลจากการขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวที่ผลิตในประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอิหร่านลดลง และส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคข้าวของชาวอิหร่านได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยผลจากการสำรวจ พบว่าประชากรที่มีรายได้น้อยหรือปานกลางที่มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 56 ล้านคน ไม่สามารถซื้อข้าวอิหร่านที่มีราคาสูงขึ้นมารับประทานได้ทุกวัน จึงหันมาบริโภคข้าวนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าถึง 3 เท่า โดยเฉพาะข้าวนำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาดุลสำรองภายในประเทศ เช่น ข้าวไทย เวียดนาม และอุรุกวัย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอิหร่านจึงระบายข้าวไทยจากคลังสำรองดังกล่าวออกสู่ตลาดเดือนละ 30,000 ตัน เพื่อสนับสนุนด้านราคา และนำเสนอทางเลือกแก่ผู้มีรายได้น้อย โดยกำหนดระยะเวลาในการระบายข้าวถึงช่วงเทศกาลปีใหม่และสิ้นสุดเทศกาลรอมดอน ซี่งในปีนี้จะตรงกับเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่ประชาชนมีความต้องการซื้อข้าวมากกว่าปกติ ทั้งนี้ข้าวจำนวนดังกล่าวจะมีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าของรัฐทั่วประเทศ

ราคาข้าวในตลาดอิหร่านขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาข้าวบาสมาติกของอินเดียซึ่งถือเป็นข้าวคุณภาพต่ำจะมีราคาจำหน่าย เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 200,000?210,000 เรียล (ประมาณ 23.57 24.57 บาท) ซึ่งราคาขยับสูงขึ้นจากเดิมที่จำหน่ายในปี 2562 ถึงสามเท่า ขณะที่ข้าวอิหร่านที่ผลิตได้ในประเทศ มีราคาจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 600,000-800,000 เรียล (ประมาณ 70.71 94.28 บาท) และมีแนวโน้มว่าราคาจะขยับเพิ่มสูงขึ้นอีก ส่วนข้าวไทยราคาจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 125,000 เรียล (ประมาณ 14.73 บาท) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านได้พยุงราคาข้าวไม่ให้สูงขึ้น

โดยนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อสำรองสมดุลด้านปริมาณและราคาในตลาด ตลาดนำเข้าข้าวรายสำคัญของอิหร่าน ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนาม และอุรุกวัย ซึ่งมีข้าวบาสมาติเป็นข้าวที่นำเข้ามากที่สุด คิดเป็นปริมาณร้อยละ 80-90 ของมูลค่าการนำเข้าในแต่ละปี

อนึ่ง อิหร่านมีการบริโภคข้าวต่อปีปริมาณ 3.2 ล้านตัน โดยในปี 2565 กระทรวงเกษตรจีฮัด (Ministry of Agriculture Jihad) รายงานว่า ข้าวอิหร่านที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณเพียง 1.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณผลผลิตที่ลดลงร้อยละ 18 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงและภัยแล้ง ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวของประเทศในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตัน ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านได้จัดสรรงบประมาณบางส่วนในการจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อแจกจ่ายให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บ้างแล้ว แต่กระนั้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในอิหร่านในภาพรวมยังคงขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัญหาการคว่ำบาตร การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของอิหร่าน ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลผลิตไม่เพียงพอและต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกรายการ ไม่ใช่เพียงเฉพาะข้าว ดังนั้นรัฐบาลอิหร่านจึงพยายามเจรจานำเข้าสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันหรือสินค้าประเภท Essential Commodities เหล่านี้ ผ่านกระบวนการค้าในรูปแบบ Oils for Goods และ Barter Trade ซึ่งการนำเข้าข้าวจากไทยเข้าข่ายเจรจาในรูปแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปี 2564 เป็นต้นมา ปริมาณการนำเข้าข้าวของอิหร่านในภาพรวมลดลงส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องนำข้าวสำรองออกมากระจายในห้างร้านของรัฐมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มหลังการเจรจารื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐฯ เสร็จสิ้นลง เนื่องจากอิหร่านคาดการณ์ว่า จะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรและปล่อยเงินอายัดในธนาคารต่างประเทศกว่า 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในที่สุด ซึ่งอิหร่านมีความจำเป็นในการนำเงินดังกล่าวไปจัดซื้อจัดหาสินค้าขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าวเป็นลำดับแรกต่อไป

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ