สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2022 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 มีนาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณ น้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,667 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,665 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,285 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,255 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.36

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 25,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 25,770 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,570 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.43

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 788 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,233 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 759 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,140 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.82 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,093 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,015 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,978 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 37 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,215 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,177 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 38 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.2904 บาท

2. สถานการณ์การผลิตและการค้าของโลก

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนมีนาคม 2565 ผลผลิต 514.067 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 509.677 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2563/64 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.86

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนมีนาคม 2565 มีปริมาณผลผลิต 514.067 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.86 การใช้ในประเทศ 511.056 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.42 การส่งออก/นำเข้า 51.397 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.45 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 190.521 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.61 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล กายานา ปากีสถาน ไทย อุรุกวัย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา กัมพูชา จีน อียู อินเดีย ปารากวัย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อียู อิหร่าน ญี่ปุ่น เคนย่า มาดากัสการ์ มาเลเซีย เม็กซิโก เนปาล ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล จีน กานา กินี อิรัก ฟิลิปปินส์ และเซเนกัล ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือนครึ่ง เนื่องจากความต้องการข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ค่าขนส่งทางเรือปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ ระดับ 415-420 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ที่อยู่ระดับ 410-415 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

วงการค้าระบุว่า ความต้องการข้าวจากต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ค้าข้าวบางส่วนยังลังเลที่จะทำสัญญาขายข้าวฉบับใหม่ เพราะไม่แน่ใจกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจจะส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งมีรายงานว่า ค่าระวางเรือ (international freight costs) ปรับตัวสูงขึ้นแล้วประมาณร้อยละ 50 ขณะที่ค่าขนส่งในประเทศพุ่งสูงขึ้นประมาณร้อยละ 70-80 ขณะที่ผู้ค้าข้าวบางส่วนคาดว่า อีกไม่นานทางการฟิลิปปินส์อาจจะยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม ที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ได้ออกมาตรการจำกัดการนำเข้าข้าวจากเวียดนามเป็นการชั่วคราว ในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศ

วงการค้าคาดว่า ปีนี้การส่งออกข้าวของเวียดนามจะไปได้ดี เห็นได้จากในช่วง 2 เดือนแรกของปี สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์ ที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 1.10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ หลายๆ บริษัทของเวียดนามยังสามารถส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ได้ เช่น บริษัท Loc Troi Agricultural Products JSC สามารถส่งออกข้าวได้ 4,500 ตัน ไปยังประเทศคู่ค้า เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ คูเวต ฟิลิปปินส์ ขณะที่บริษัท Trung An High-Tech Agriculture สามารถส่งออกข้าวไปเกาหลีใต้ได้ 11,000 ตัน

นาย Pham Thai Binh ผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท Trung An คาดว่าตลาดส่งออกข้าวในปี 2565 จะดีขึ้นกว่าปี 2564 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังจากการฟื้นตัวของโซ่อุปทานในตลาดโลก นอกจากนี้ จากภาวะความไม่แน่นอนทั่วโลก รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจกับการเพิ่มปริมาณสำรองอาหารมากขึ้น

ผู้ส่งออกข้าวเวียดนาม ได้เปลี่ยนมาเน้นที่คุณภาพสินค้ามากขึ้น แทนที่จะเน้นปริมาณเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เข้าถึงตลาดยุโรปได้ดีขึ้น และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (the EUVietnam Free Trade Agreement; EVFTA) ซึ่งจากข้อมูลของกรมศุลกากร (the General Department of Vietnam Customs; GDVC) แม้ว่าปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศไปยังสหภาพยุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่มี่จำนวน 53,910 ตัน แต่มูลค่าการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 38.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (The Ministry of Industry and Trade) ระบุว่า มูลค่าส่งออกที่สูงขึ้นมาจากความสำเร็จของผู้ส่งออกข้าวเวียดนามในการใช้ประโยชน์จาก EVFTA

ทั้งนี้ ราคาส่งออกข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 781 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 (ราคาเฉลี่ยจากผู้ส่งออกข้าว 10 อันดับแรก ที่ส่งไปสหภาพยุโรปในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564) เป็นผลมาจากการที่เวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวคุณภาพสูงและพันธุ์พิเศษ เช่น ข้าวหอม ST24 และ ST25 เป็นต้น

ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามในปีนี้จะยังคงใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบจาก EVFTA เพื่อส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ดีขึ้น โดยปัจจุบันการส่งออกข้าวทุกชนิดของเวียดนามไปสหภาพยุโรป มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1 และมูลค่าการซื้อขายเพียงร้อยละ 1.3

จากรายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association; VFA) ในปี 2565 คาดว่าเวียดนามสามารถส่งออกข้าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปแล้วไม่ต่ำกว่า 60,000 ตัน เนื่องจากผู้นำเข้าข้าวของสหภาพยุโรป ได้ประเมินคุณภาพข้าวเวียดนามที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ข้าวเวียดนามยังได้รับการยอมรับจากลูกค้าดั้งเดิมจำนวนมากในประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และโปแลนด์ อีกทั้งคาดว่าในแต่ละปีเวียดนามจะส่งออกข้าวหักได้ประมาณ 100,000 ตัน ไปยังสหภาพยุโรป เมื่อมีการเปิดเสรีให้นำเข้าข้าวกลุ่มนี้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้จัดสรรโควตานำเข้าข้าวจากเวียดนามในอัตราภาษี 0% จำนวน 80,000 ตันต่อปี ประกอบด้วย ข้าวสาร จำนวน 30,000 ตัน ข้าวกล้อง จำนวน 20,000 ตัน และข้าวหอม จำนวน 30,000 ตัน ส่วนข้าวหักจะทยอยปรับลดภาษีนำเข้าจากอัตราร้อยละ 50 ลงเหลือร้อยละ 0 ภายในเวลา 5 ปี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ รายงานว่า นับถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เวียดนามเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูหนาว 2564-ฤดูใบไม้ผลิ 2565 (พฤศจิกายน 2564 ? กุมภาพันธ์ 2565) รวม 16.25 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2563/64 โดยภาคเหนือมี 4.63 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2563/64 ภาคใต้มี 11.875 ล้านไร่ ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2563/64

ขณะที่การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (the Mekong Delta) มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณร้อยละ 45 ของพื้นที่ทั้งหมดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (the Ministry of Agriculture and Rural Development) ระบุว่า ในปีนี้ผลผลิตข้าวทางภาคใต้ของประเทศจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูใบไม้ผลิ (winter - spring rice) จะเพิ่มขึ้น แต่รายได้ของเกษตรกรอาจจะต่ำกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยในภูมิภาคนี้มีการปลูกข้าวเกือบ 10 ล้านไร่ ลดลงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่คาดว่าประมาณ 1.15 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการเลือกปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ ตามความต้องการในตลาด และเลือกพันธุ์ข้าวที่เติบโตได้ดีในท้องที่ นอกจากนี้ การใช้เทคนิคการเกษตรขั้นสูงก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกันที่ช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น โดยในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ มีการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมและพันธุ์พิเศษ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของหน่วยงานเกษตรในท้องถิ่นระบุว่า ในปีนี้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นปประมาณร้อยละ 15-20 ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงประมาณ 64-176 เหรียญสหรัฐต่อไร่

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สำนักงานอุตสาหกรรมพืช (the Bureau of Plant Industry; BPI) รายงานว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565) มีการนำเข้าข้าวจำนวน 560,266.99 ตัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 462,573.95 ตัน เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในเดือนมกราคม 2565 มีการนำข้าวจำนวน 280,405.712 ตัน และเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการนำเข้าจำนวน 279,861.278 ตัน โดยในช่วง 2 เดือนนี้ มีการใช้ใบอนุญาตสุขอนามัยพืช (the sanitary and phytosanitary import clearances (SPS-ICs)) จำนวน 762 ใบ สำหรับการนำเข้าข้าว

สำนักงานอุตสาหกรรมพืช (BPI) รายงานว่า ในช่วง 3 วันแรกของเดือนมีนาคม 2565 มีการนำเข้าข้าว ประมาณ 46,576 ตัน ทำให้ยอดสะสมของการนำเข้านับตั้งแต่ต้นปีมาถึงขณะนี้มีจำนวน 606,842.99 ตัน โดยเป็นการนำเข้าของภาคเอกชนทั้งบริษัทนำเข้าข้าวและผู้ค้าข้าวรวมมากกว่า 90 ราย

ทั้งนี้ ประเทศเวียดนามถือเป็นแหล่งนำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ คิดเป็นร้อยละ 74 ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมด โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2565 มีการนำเข้าจากเวียดนามจำนวน 448,627.3 ตัน รองลงมา ได้แก่ ประเทศไทยจำนวน 61,504.875 ตัน และปากีสถานจำนวน 37,170 ตัน

สำหรับผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ Bestow Industries Inc. ซึ่งนำเข้าข้าวจำนวน 71,195 ตัน รองลงมา คือ Pioneer Agritrade Resources Inc. จำนวน29,660 ตัน เมื่อปี 2564 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวประมาณ 2.771 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งถือเป็นปริมาณนำเข้าข้าวมากที่สุดรองจากปี 2563 โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศเวียดนามประมาณ 2.36 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 85 ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.828 ล้านตัน ที่นำเข้าในปี 2563 โดยในปี 2564 ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ Nan Stu Agri Traders ซึ่งนำเข้าข้าวจำนวน 169,774.95 ตัน ตามด้วย Bestow Industries Inc. จำนวน 129,339.28 ตัน โดยมีผู้ขอนำเข้าข้าวทั้งหมด 154 ราย ซึ่งนำเข้าข้าวจากประเทศกัมพูชา จีน อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี เมียนมาร์ ปากีสถาน สิงคโปร์ สเปน ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม ซึ่งน้อยกว่าปี 2563 ที่มีผู้ขอนำเข้าข้าวทั้งหมด 193 ราย

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 มีจำนวนประมาณ 1.85945 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภคประมาณ 58 วัน (คำนวณจากความต้องการบริโภควันละประมาณ 32,000 ตัน) น้อยกว่าระดับที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 90 วัน โดยปริมาณสต็อกข้าวลดลงร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.37785 ล้านตัน ในเดือนธันวาคม 2564 และลดลงร้อยละ 20.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.332 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2564

ทั้งนี้ สต็อกในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) มีจำนวนประมาณ 0.20833 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 40.9 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.35252 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 11.2 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 11 วัน) โดยสต็อกข้าวของ NFA ลดลงประมาณร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.24971 ล้านตัน ในเดือนธันวาคม 2564

ขณะที่สต็อกในคลังของเอกชน (Commercial warehouses) มีจำนวนประมาณ 0.65956 ล้านตัน ลดลง ประมาณร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.68996 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 35.5 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 21 วัน) และลดลงประมาณร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.83117 ล้านตัน ในเดือนธันวาคม 2564 ส่วนสต็อกในภาคครัวเรือน (Household stocks) มีจำนวนประมาณ 0.99156 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 23.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.28951 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 53.3 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 31 วัน) และลดลงประมาณร้อยละ 23.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.29697 ล้านตัน ในเดือนธันวาคม 2564

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ