สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2022 13:22 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 7 - 10 เมษายน 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท

คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกร

ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,694 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,661 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,391 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,381 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 25,800 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 25,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 820 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,254 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 807 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,831 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.61 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 423 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,325 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,164 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.17 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 161 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 437 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,524 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 438 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,563 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 39 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.2360 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน หนุนส่งออกข้าวไทยเดือนมีนาคม 2565 พุ่ง 7 แสนตัน : ผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าเดือนมีนาคม 2565 จะส่งออกข้าวได้ 700,000 ตัน จากปัญหาสงคราม ทำให้ต่างประเทศนำเข้าข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงภายในและทดแทนข้าวโพด ข้าวสาลีตึงตัว

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมคาดว่า ในเดือนมีนาคม 2565 การส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 ตัน เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในแถบตะวันออกกลาง (เช่น อิรัก อิหร่าน) เอเชีย (เช่น จีน ญี่ปุ่น) และแอฟริกา ยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะมีข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศในช่วงที่สถานการณ์การสู้รบระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนยังไม่คลี่คลายซึ่งทำให้เกิดภาวะตึงตัวในกลุ่มสินค้าธัญพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ส่งผลให้มีความต้องการใช้ข้าวเพื่อทดแทนสินค้าทั้งสองชนิดมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ราคาข้าวไทยในช่วงนี้ ค่อนข้างทรงตัว จากการที่ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 426 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 418-422, 343-347 และ 358-362 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ด้านราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 441 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ ข้าวนึ่งของอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 363-367 และ 386-390 เหรียญสหรัฐต่อตัน

สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีปริมาณ 635,919 ตัน มูลค่า 10,396 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 และร้อยละ 30.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่มีปริมาณ 459,752 ตัน มูลค่า 7,987 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การส่งออกข้าวทุกชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากผู้นำเข้าต่างเร่งนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้ เพราะกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะตลาด รวมทั้งการขนส่งระหว่างประเทศ

โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการส่งออกข้าวขาวปริมาณรวม 355,956 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.97 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศอิรัก จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เบนิน และเปอร์โตริโก เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ตันข้าว) มีปริมาณ 112,338 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.43 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับข้าวนึ่ง มีการส่งออกปริมาณ 63,711 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.32 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ และเยเมน เป็นต้น

จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 มีปริมาณ 1,095,671 ตัน มูลค่า 18,383.2 ล้านบาท (556.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 และมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 849,810 ตัน มูลค่า 15,836.3 ล้านบาท ( 531.8 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกช้าวไทย

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวลดลงจากระดับที่เคยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือนครึ่งจากในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิต ฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) ของปี 2564/65 ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง โดยข้าวบางส่วนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้คุณภาพข้าวลดลง ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 400-415 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจาก 415-420 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (General Statistics Office; GSO) ว่าในเดือนมีนาคม 2565 มีการส่งออกข้าวประมาณ 500,000 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) เวียดนามส่งออกข้าวได้ ประมาณ 1.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่า ในช่วงวันที่ 14 มีนาคม-7 เมษายน 2565 จะมีเรือบรรทุกสินค้า (breakbulk ships) อย่างน้อย 12 ลำ เข้ามารอรับสินค้าข้าวที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City (HCMC) Port เพื่อรับมอบข้าวประมาณ 156,650 ตันเว็บไซต์ S&P Global Commodity Insights รายงานโดยอ้างข้อมูลของกรมศุลกากรว่า ในเดือนมีนาคม 2565 เวียดนามส่งออกข้าว จำนวน 533,100 ตัน โดยปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาแต่ลดลงประมาณร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติเวียดนาม (the Vietnam General Statistics Office) รายงานว่า จากการที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวตามฤดูกาลในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (the Mekong Delta) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตข้าวในช่วงฤดูการผลิตฤดูร้อน (summer rice) มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 826 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 704 กิโลกรัมต่อไร่ ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นถึง 881,100 ตัน จากประมาณ 665,300 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย รายงานว่า กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development MARD) ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2565 การส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตร ป่าไม้ และการประมง ของเวียดนาม มีมูลค่า 22,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากตัวเลขดังกล่าวการส่งออกมีมูลค่า 12,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 98,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.5 ส่งผลให้เกินดุลการค้าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเดือนมีนาคม 2565 มีมูลค่าการส่งออก 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญ มีมูลค่า 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ มีมูลค่า 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ผลิตภัณฑ์ประมง 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 และการเลี้ยงสัตว์ มีมูลค่า 75,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.4 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีรายได้ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กาแฟ ยางพารา ข้าว พริกไทย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลัง กุ้ง ปลาสวาย ไม้ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกชา ลดลงร้อยละ 12 และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลดลงร้อยละ 5

อย่างไรก็ตาม เอเชียยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเกษตร ป่าไม้ และการประมง ของเวียดนามด้วยส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 40.3 รองลงมา คือ อเมริกา ร้อยละ 29.5 และยุโรปร้อยละ 13.1 ขณะเดียวกัน อเมริกา เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนามด้วยมูลค่ากว่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมา คือ จีน มูลค่า 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และญี่ปุ่น มูลค่า 872,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท จะส่งเสริมในการขยายตลาดส่งออก และให้ข้อมูลเกี่ยวกับราคาผลผลิต การผลิตและการจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งแนะนำแนวทางแก้ไข เพื่อขจัดความแออัดของผลผลิตทางการเกษตรที่ด่านชายแดน โดยในปี 2565 ภาคการเกษตรกำหนดเป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นาย Phung Duc Tien รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว VOV ว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางอย่างที่มีข้อได้เปรียบอย่างมาก เช่น ปลาสวาย ได้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 87 ทั้งนี้ สมาชิกของสมาคมปลาสวาย ในจังหวัดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดได้ ดังนั้น เวียดนามควรใช้ประโยชน์จากตลาดที่มีเขตการค้าเสรีด้วยการครอบคลุมและพัฒนามากขึ้น โดยในปี 2565 เวียดนามจะบรรลุเป้าหมายส่งออกสินค้าเกษตรได้มากกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ